ปัจจุบัน ข้อมูลของเราถูกจัดเก็บและส่งต่อผ่านโลกออนไลน์เป็นเรื่องปกติ ไม่ว่าจะข้อมูลที่เราแชร์เอง ผ่านแอคเคาท์โซเชียลมีเดียส่วนตัว ข้อมูลการท่องเว็บ ข้อมูลที่เราอนุญาตให้บริการออนไลน์ต่างๆ เข้าถึงได้ เช่น Mobile Banking, Food Delivery Platform, E-commerce Application และอีกมากมาย
เรียกได้ว่าเกือบทุกอย่างที่เราทำบนอินเทอร์เน็ตถูกเก็บบันทึกไว้หมดแล้ว และหลายครั้งก็ถูกนำไปใช้ในเชิงพาณิชย์ เช่น โฆษณา การพัฒนาเว็บไซต์ การออกสินค้าชิ้นใหม่ ทุกอย่างถูกประมวลผลด้วย Algorithm และ AI เพื่อสร้างผลิตภัณฑ์ที่ดึงดูดเราที่สุด สร้างโฆษณาที่ทำให้เรายอมควักเงินในกระเป๋าซื้อสินค้านั้น แม้แต่การนำไปใช้ในทางการเมือง อย่างประเด็นการเลือกตั้งของโดนัลล์ ทรัมป์
แนวคิด Web 3.0 จึงเกิดขึ้น เพื่อคืนสิทธิบนโลกออนไลน์ให้ผู้ใช้ พร้อมประสบการณ์ใช้งานแบบใหม่
[ ลาก่อน Web 1.0 และ 2.0 ]
ก่อนมาเป็น Web 3.0 เราผ่านยุค 1.0 และ 2.0 มาก่อน
Web 1.0 คือเว็บไซต์รุ่นบุกเบิกหรือ World Wide Web สร้างโดย Tim Berners-Lee ถูกใช้ในช่วงปี 2533 – 2548 มีลักษณะเป็นการสื่อสารทางเดียว (One Way Communication) เจ้าของเว็บเป็นคนลงเนื้อหาข่าวสาร ส่วนผู้ใช้อ่านได้อย่างเดียว
Web 2.0 หรือยุคแห่ง Social media เริ่มตั้งแต่ปี 2558 – 2563 ได้พัฒนาให้ผู้ใช้สามารถอ่านและเขียนโต้ตอบได้ จึงเกิดการปฏิสัมพันธ์ แลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เป็นสังคมออนไลน์ขึ้นมา การสื่อสารสองทาง (Two Way Communication) ทำให้ปริมาณข้อมูลมหาศาลไหลเข้าสู่โลกออนไลน์ โดยมีตัวกลางคอยดูแล เช่น Facebook, Google, Tiktok ซึ่งมันก็มีเส้นบางๆ ระหว่างตัวกลาง และพ่อค้าคนกลางที่ซื้อสินค้าไปขายต่อ และสินค้านั้นคือข้อมูลของเรา
[ Web 3.0 ต่างจากเดิมอย่างไร ? ]
คำนิยามสั้นๆ ของ Web 3.0 คือ ผู้ใช้งานสามารถ “อ่าน เขียน และเป็นเจ้าของได้” คำว่าเป็นเจ้าของได้ หมายถึง ผู้ใช้มีส่วนร่วมในการกำหนดทิศทางโปรโตคอล โดยเว็บไซต์จะมีการสร้างสกุลเงินดิจิทัลให้ผู้ใช้เป็นผู้ถือหุ้น
Web 3.0 ไม่มีเซิร์ฟเวอร์ ไม่มีตัวกลางในการควบคุมข้อมูล ทำให้การใช้งานอินเทอร์เน็ตมีความปลอดภัย โปร่งใสมากขึ้น และผู้ใช้ยังมีอิสระในการเข้าถึงข้อมูลมากขึ้น
ในตอนต้น อาจมีข้อเสียบ้าง เช่น การทำธุรกรรมดำเนินช้า เข้าถึงได้ยาก เทคโนโลยีที่ทำงานร่วมด้วยมีอยู่น้อย อย่างไรก็ตามในอนาคตอาจมีการพัฒนาทางเทคโนโลยีมาอุดช่องโหว่นี้
[ ตัวอย่างแพลตฟอร์ม ]
– Brave
Browser สำหรับท่องอินเตอร์เน็ต มาพร้อมกับตัวบล็อคโฆษณา
– Meta Mask mobile
กระเป๋าเงินสำหรับเก็บ Crypto และเล่นเกมที่ใช้ Blockchain ผ่านมือถือได้
– Storj
ข้อมูลถูกเก็บในรูปแบบ Decentralized ไม่มีตัวกลาง ข้อมูลจึงมีความปลอดภัยสูง
– Pancake Swap
แพลตฟอร์มธุรกรรมแบบ Decentralized ภายใต้เครือข่าย Binance Smart Chain
Web 3.0 จะเข้ามาแทนที่ระบบเดิมเร็วแค่ไหน ทิศทางการพัฒนาจะและบทบาทของสกุลเงินดิจิทัลจะเปลี่ยนไปอย่างไร เราต้องติดตามกันต่อไป
#Agenda