แต่ละจังหวัด ‘ปั๊มลูก’ มากแค่ไหน? ไทยวิกฤต ‘คนไม่ปั๊มลูก’ อัตราเกิดต่ำสุดในอาเซียน

Highlight

ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านในโซนอาเซียน พบว่าในปี 2019 ไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ 0.18% ซึ่งน้อยที่สุดในภูมิภาค แต่อย่าลืมว่าการจะจูงใจโน้มน้าวให้หนุ่มสาวยุคนี้อยากมีลูกได้ ก็คงต้องมองปัจจุบันก่อนว่า จะผลักดันให้พวกเขาอยากมีลูกได้อย่างไร?

ไทยวิกฤต ‘คนไม่ปั๊มลูก’ อัตราเกิดต่ำสุดในอาเซียน ส่วนวัยผู้ใหญ่คาด ‘แก่ก่อนรวย’

✏️  แต่ละจังหวัด ‘ปั๊มลูก’ มากแค่ไหน?

ข้อมูลการเกิดของเด็กไทยในปี 2019 บอกเราว่า จำนวนการเกิดของเด็กที่มากที่สุดอยู่ในจังหวัดกรุงเทพ คือ 77,312 คน รองลงมาคือ ชลบุรี 27,643 คน, นครราชสีมา 21,171 คน ,เชียงใหม่ 17,613 คน และสงขลา 16,767 คน ส่วนจำนวนทารกที่เกิดน้อยที่สุดได้แก่จังหวัดสมุทรสงคราม คือ 885 คน 

✏️  ถ้าต่อไป ‘ไม่มีเด็กเกิดใหม่’ โลกจะเป็นอย่างไร ? 

ถ้าคุณเคยดูภาพยนตร์เรื่อง Children of Men ไซไฟ-ดิสโทเปีย ที่พูดถึงโลกไร้ทารก เพราะไม่มีเด็กเกิดใหม่นานเกือบ 20 ปี โทนเรื่องที่ดูหม่น ๆ ท้อแท้สิ้นหวังแบบนั้น อาจจะเกิดขึ้นจริงในอนาคต เพราะอัตราเกิดน้อยลงจนแทบต่ำกว่าศูนย์ในหลายประเทศ

ถ้าเป็นแบบนี้ต่อไป ประชากรวัยทำงานจะลดน้อยลง ในขณะที่สัดส่วนประชากรสูงอายุมีแนวโน้มเพิ่มขึ้น ในอนาคต คนจึงมีแนวโน้มว่าต้องเกษียณช้าลงจากการขาดแคลนแรงงาน (บางประเทศประกาศยืดอายุเกษียณไปแล้ว) และส่งผลต่อการขยายตัวของเศรษฐกิจ

ทางออกที่ไทยพอจะมี และทำอยู่ คือการเปิดรับแรงงานต่างชาติเข้ามาทำงาน ช่วยทดแทนจำนวนแรงงานที่ไม่เพียงพอ

✏️ ไทยเจอทั้ง ‘เด็กเกิดน้อย’ และ ‘สังคมสูงอายุ-แก่ก่อนรวย’

สองวิกฤตโครงสร้างประชากร ที่ทยอยอุบัติขึ้นพร้อม ๆ กัน

นอกจากเด็กเกิดน้อยจะทำให้เราขาดแคลนแรงงานแล้ว สังคมสูงอายุของไทยยังเป็นลักษณะที่ ‘แก่ก่อนรวย’ เพราะอีก 10 ปีข้างหน้า เราจะมีประชากรอายุ 60 ปีขึ้นไปถึง 1 ใน 4 ของประชากรทั้งหมด และส่วนใหญ่จะเป็นกลุ่ม “คนยากจน” 

✏️ ผู้หญิงไทย ติด 1 ใน 10 มีลูกน้อยที่สุดในโลก

อัตราการเกิดที่ถือว่าสร้างความมั่นคงทางประชากร คือ ผู้หญิง 1 คนมีลูกเฉลี่ย 2.1 คน

ถ้าน้อยกว่า 2.1 จะเรียกว่า Baby Bust หรือเด็กเกิดใหม่น้อยจนไม่สามารถทดแทนประชากรที่หายไปได้

ข้อมูลจาก Global Burden of Disease พบว่าผู้หญิงไทย ติด 1 ใน 10 มีลูกน้อยที่สุดในโลก โดยมีอัตราเจริญพันธุ์อยูที่ 1.2 เท่ากับเกาหลีใต้ และน้อยกว่าญี่ปุ่นกับโปแลนด์ซึ่งมีอัตราเจริญพันธุ์อยู่ที่ 1.3

✏️ ไทยเป็นประเทศกำลังพัฒนาประเทศแรกในโลก ที่ประสบปัญหา ‘เด็กเกิดน้อย’

ข้อมูลจากองค์การสหประชาชาติ (ยูเอ็น) ระบุว่า ในปี 2100 ไทยจะมีประชากรลดลงถึง 34% 

ส่วนประเทศอื่น ๆ 

– #ญี่ปุ่น จะมีประชากรลดลง 53%

– #เกาหลีใต้ มีประชากรลดลงครั้งแรกในปี 2020 โดยมีคนตายมากกว่าเกิด และมีอัตราการเกิดอยู่ที่ 0.05% เท่านั้น

– สเปน จะมีประชากรลดลง 50%

ถ้าเทียบกับเพื่อนบ้านในโซนอาเซียน พบว่าในปี 2019 ไทยมีอัตราการเพิ่มของประชากรอยู่ที่ 0.18% ซึ่งน้อยที่สุดในภูมิภาค

✏️ ทำไมคนไทย ‘ปั๊มลูก’ กันน้อยลง

– ‘มุมมองการมีครอบครัว’ ของคนรุ่นใหม่ นิยมอยู่เป็นโสดมากขึ้น หรือ มีครอบครัวแต่ไม่ต้องการมีลูก

– สภาพแวดล้อมทางสังคมและเศรษฐกิจ ทำให้คนรุ่นใหม่ตัดสินใจมีลูกน้อยลง

– การคุมกำเนิดมีประสิทธิภาพมากขึ้น

– การศึกษาที่สูงขึ้น และมีโอกาสทางสังคมที่เปิดกว้างมากขึ้นสำหรับผู้หญิงในการทำงานนอกบ้าน

– และเหตุผลอื่น ๆ ที่แตกต่างกันออกไป

✏️  โปรโมชั่น หนุนคน ‘ปั๊มลูก’ จากรัฐบาลไทย

– จัดมีตติ้งคนโสด

– แจกคูปองตรวจสุขภาพก่อนมีลูก

– แจก ‘ธาตุเหล็กและโฟลิก’ ช่วยเตรียมความพร้อมให้ว่าที่คุณแม่

– เงินอุดหนุนเด็กแรกเกิด

แต่อย่าลืมว่าการจะจูงใจโน้มน้าวให้หนุ่มสาวยุคนี้อยากมีลูกได้

ก็คงต้องมองปัจจุบันก่อนว่า ความพร้อมในชีวิต ความเป็นอยู่ สภาพเศรษฐกิจ การดูแลจากรัฐ จะผลักดันให้พวกเขาอยากมีลูกได้อย่างไร?

ที่มา:

– กรมการปกครอง กระทรวงมหาดไทย

– สำนักอนามัยการเจริญพันธุ์ กรมอนามัย กระทรวงสาธารณสุข 

https://www.bbc.com/thai/international-46151343

https://www.amarintv.com/news/detail/66591

– https://www.thairath.co.th/news/foreign/2005819

https://www.thairath.co.th/news/foreign/1890181https://thestandard.co/thailand-population/

Popular Topics