ทางเท้าไทย VS ทางเท้าต่างประเทศ สภาพและการจัดการต่างกันตรงไหน?

Highlight

ทางเท้าของเรา ดูจะไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งานทั่วไปเลย เพราะฟุตบาทในกทม.หรือหลายจุดในไทย มักมีปัญหาทางแคบ สิ่งกีดขวาง ความเขรอะขระเลอะเทอะผุพังของพื้นทางเดิน มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขับบนทางเดินเท้า มาคุยกันว่า ทางเท้าของเรามีอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง และประเทศที่ทางเท้าน่าเดินอื่น ๆ เขาจัดการดูแลทางเท้ายังไง

มีงานศึกษาหลาย ๆ งานพบว่า เมืองที่ทางเท้าดี เดินไปไหนมาไหนได้สะดวก

จะช่วยให้เมืองดีขึ้น 3 ด้าน คือ 

1) สุขภาพดี – คนเดินไปไหนมาไหนได้สะดวก จะช่วยให้คนในพื้นที่ลดความเสี่ยงโรคอ้วนได้ 10%

2) ร้านรายย่อยดี – ทางเท้าและทางจักรยานที่ดี ทำให้คนมาจับจ่ายใช้สอยรายย่อยง่ายขึ้น

3) ปลอดภัยดี – ทางเท้าที่เดินง่าย เข้าถึงและสะดวก ทำให้คนใช้ทางเท้ากันมากขึ้น ทำให้สังคมปลอดภัยและน่าอยู่ด้วย

แต่แน่นอนว่าทางเท้าที่ใช้ได้จริง สวยงาม เป็นระเบียบนั้นไม่ได้เกิดขึ้นมาเอง

#AGENDA ชวนมาคุยกันว่า ทางเท้าของเรามีอะไรที่ควรปรับปรุงบ้าง และประเทศที่ทางเท้าน่าเดินอื่น ๆ เขาจัดการดูแลทางเท้ายังไง


ฟุตบาทไทย – แคบ ขวาง เขรอะ

เชื่อว่าใครหลายๆคน ต้องเคยเดินบนทางเท้าในไทย แล้วต้องเจอกับอุปสรรคต่างๆเหล่านี้

ทางแคบ สิ่งกีดขวาง ความเขรอะขระเลอะเทอะผุพังของพื้นทางเดิน

✏️ มาพูดคุยเรื่องทางแคบกันก่อน

จากข้อมูล เราพบว่า จริง ๆ แล้วกรมทางหลวงได้กำหนดความกว้างของทางเท้าเขตเมือง เอาไว้ว่า ควรกว้างอย่างน้อย 1.5 – 2 เมตร

แต่ในกทม. เรากลับเจอฟุตบาทขนาดเล็กกว่า 1.5 เมตรได้ทั่วไป บางจุดก็ถูกเฉือนออกไปให้รถวิ่ง

แถมมาด้วยอีกอุปสรรคที่เจอบ่อยพอ ๆ กันและทำให้ทางที่เดิมทำไว้กว้างตามมาตรฐาน กลายเป็นคับแคบอยู่ดี คือ

– หายเร่ แผงลอย ร้านค้าเบียดบังพื้นที่ทางเท้า

– มอเตอร์ไซค์ขึ้นมาขับบนทางเดินเท้า

– ป้ายโฆษณาตามเสาไฟ

– เสาไฟ บางทีก็งอกกลางทางเดินแบบงงๆ

– ต้นไม้ที่ปลูกขวางทางเดิน

✏️แต่เท่านี้ก็ยังไม่ยากพอ เพราะทางเท้าของเรามีความผุพัง เสี่ยงสะดุดหน้าคะมำ เพราะพื้นทางที่ไม่เรียบ

เขรอะด้วยสิ่งปกปรก น้ำขัง จนนักท่องเที่ยวนำมาล้อว่าทางเท้าไทยเป็นเหมือนเกมส์ Mine Sweeper เพราะมีแผ่นกระเบื้องที่ซ่อนน้ำขังเน่าเหม็นไว้ข้างใน เผลอเหยียบเข้าไปก็เท่ากับ Game Over

✏️กลายเป็นว่า อุปสรรคทั้งหมดนี้ทำให้คนที่ควรได้ใช้ทางเท้า ต้องลงมาเดินบนถนน และเสี่ยงต่ออันตรายต่อการถูกเฉี่ยวชน

เท่ากับว่าทางเท้าของเรา ดูจะไม่ได้คำนึงถึงผู้ใช้งานทั่วไปเลย ไม่ต้องพูดถึงผู้ใช้งานพิเศษ อย่างผู้พิการ คนสูงวัย เด็กๆ หรือสตรีมีครรภ์ ซึ่งเป็นกลุ่มที่ต้องระมัดระวังเป็นพิเศษ 

ถ้าไล่ดูข่าวเก่า ๆ ของทางเท้าไทยในแง่การดูแล ซ่อม และสร้าง ก็จะเจออีกปัญหาทับซ้อน ไม่ว่าจะเป็น

– ก่อสร้างไม่ได้มาตรฐาน

– หน่วยงานนี้สร้าง อีกหน่วยงานมารื้อทำท่อ/วางไฟ ปิดกลับไปก็ไม่เหมือนเดิม 

เท่ากับสิ้นว่า เราเปลืองงบกระมาณสำหรับกระบวนการวนซ้ำนี้ไม่รู้เท่าไหร่แล้ว

บางจุดมีการเปรียบเทียบระหว่างทางเท้าที่รัฐทำ กับทางเท้าที่เอกชนทำ และน่าแปลกใจที่ทางเท้าเอกชนมีคุณภาพกว่ามาก ผ่านไปนับสิบปีก็ยังไม่ชำรุด ต่างกับของรัฐที่พบเจอปัญหามากมายอย่างที่ว่าไป


ฟุตบาทสิงคโปร์ – กว้างและร่มรื่น กฎดูแลเข้มงวด

ปัญหาการจัดการทางเท้าในสิงคโปร์นั้นเก่าแก่พอ ๆ กับเรา ทั้งเรื่องหาบเร่แผงลอยยึดทางเดินเท้า และความร้อนที่ทวีคูณขึ้นเรื่อย ๆ จนทำให้การเดินเท้าเวลากลางวันนั้นเป็นเรื่องที่ชาเลนจ์อย่างยิ่ง

✏️แต่สิงคโปร์ก็ปูพื้นจัดการปัญหามาตั้งแต่ปี 1980 ควบคู่ไปกับการวางผังเมือง คือ

– วางผังเมือง ทำที่อยู่อาศักราคาถูกให้ประชาชน

– จัดระเบียบหาบเร่แผงลอย ด้วยการหาพื้นที่ค้าขายทดแทนให้เป็นการถาวร
– จัดพื้นที่ขายอาหารให้กับทุกชุมชนอย่างเป็นสัดเป็นส่วน เพื่อกระจายรายได้

✏️ อีกปัญหาก็คือ ‘ความร้อน’ ในการเดินเท้า ซึ่งสิงคโปร์เลือกใช้ธรรมชาติในการตอบโจทย์

ด้วยการวางนโยบาย ‘Garden City’ เพิ่มพื้นที่สีเขียวทั่วเมือง นอกจากจะช่วยเรื่องความร้อนในการเดินเท้าแล้ว ยังทำให้เมืองดูสวยน่าพักผ่อน ช่วยดูดซับมลพิษด้วย 

นโยบายนี้ทำให้สิงคโปร์กลายเป็นเมืองที่หนาแน่นด้วยพื้นที่สีเขียวที่สุดในโลก

✏️อีกปัจจัยที่ทำให้สิงคโปร์บริหารจัดการทางเท้าได้สำเร็จ ก็คือ ‘ความเข้มงวด’ ในการบังคับใช้กฎหมาย เช่น

– ทิ้งขยะไม่เป็นที่ ปรับสูงสุด 300,000 บาท

– ใช้พาหนะบนทางเท้าผิดประเภท มีโทษจำคุก


ฟุตบาทญี่ปุ่น – ต้นแบบทางเท้าในฝัน

✏️ทางเท้าที่ญี่ปุ่น ขึ้นชื่อเรื่อง ‘ความใส่ใจ’

โดดเด่นการออกแบบให้ User Friendly คือเป็นมิตรกับผู้ใช้ทุกรูปแบบ แบ่งสัดส่วนทางเท้า จักรยานไว้อย่างเหมาะเจาะ และคำนึงถึงผู้พิการหรือผู้ที่ต้องใช้รถเข็น รวมถึงพิการทางสายตาหรือมีปัญหาด้านการมองเห็นเอาไว้ทั้งหมด โดยการคำนึงรอบด้าน เช่น 

– ความกว้าง อย่างเมืองเกียวโต ก็เคยตัดสินใจขยายทางเท้าจากข้างละ 3.5 เมตรเป็น 6.5 เมตร และลดผิวถนนจากไปกลับ 4 เลนเหลือเพียง 2 เลน เพื่อใฝห้คนเดินมีที่มากขึ้น

– ความสูงทางเท้าที่เหมาะสม

– การป้องกันน้ำขัง

– พื้นผิว การจัดการสิ่งกีดขวาง

– รูปแบบการใช้งานในแต่ละพื้นที่ด้วย เช่น ทางม้าลายที่ออกแบบให้แทยงมุม เพื่อให้คนที่ต้องการข้ามมาสถานีรถไฟจากอีกฝั่ง เดินแทยงมายังสถานีได้เลยโดยไม่ต้องเดินไกลขึ้น

✏️ แม้แต่ต้นไม้ก็ใส่ใจ

เพราะญี่ปุ่นมีการออกแบบพื้นที่ใต้ดินสำหรับต้นไม้ เพื่อให้ลงต้นไม้ใหญ่ริมถนนสร้างความร่มรื่นได้ โดยที่รากต้นไม่ไม่ทำลายทางเท้า และเติบโตได้อย่างสวยงาม

✏️ ย้ายเสาไฟฟ้า เพราะคิดถึงทุกคน

ญี่ปุ่นก็เคยมีเสาไฟฟ้ากีดขวางทางเท้า และแม้คนทั่วไปจะเดินผ่านได้ แต่ผู้ที่ใช้รถเข็นนั้นจะผ่านไม่ได้ ทำให้รัฐตัดสินใจย้ายเสาไฟ เพื่อให้ผู้ใช้รถเข็นผ่านได้นั่นเอง


ฟุตบาทเกาหลีใต้ – ใช้เทคโนโลยี ทำทางเท้าอัจฉริยะ

แม้เกาหลีใต้จะมีเลนถนนกว้าง ๆ ให้อวดเวลาตัวเอกกลับรถกะทันหันในซีรีย์เกาหลี

แต่ทางเท้าสาธารณะก็ไม่ได้ถูกเบียดเบียนแต่อย่างใด

แต่ถูกออกแบบมาดีไม่ผิดกับการเป็นประเทศพัฒนาแล้ว 

✏️  แถมยังเอาเทคโนโลยีเข้ามาร่วมใช้งานกับทางเท้า และปรับให้เข้ากับพฤติกรรมผู้ใช้งานอีกด้วย เช่น

– สัญญาณพื้นบนทางเท้า

– แจ้งเตือนผ่านมือถือ เมื่ออยู่ใกล้ ๆ ทางข้าม

– เพิ่มไฟที่พื้นทางม้าลาย เพื่อเตือนให้รถหยุดและคนก้มหน้าเล่นมือถือได้เห็น

– ทำสีแบ่งทางสำหรับเด็กๆ บริเวณหน้าโรงเรียน


ฟุตบาทไต้หวัน – ให้พื้นที่ทางเท้า ลดพื้นที่ถนน

✏️  ที่ไต้หวัน รัฐหนุนให้คนใช้จักรยาน หรือมอเตอร์ไซด์ไฟฟ้าเป็นพิเศษ เพื่อลดปัญหามลพิษ 

โดยใช้วิธียอมลดพื้นที่ถนน มาเพิ่มที่ให้กับทางเท้าและทางจักรยาน 

แต่จำนวนจักรยานและมอร์เตอร์ไซด์ที่มาก ก็ทำให้รบกวนผู้ใช้ทางเท้าเช่นกัน เหมือนที่ไทยเจอปัญหาคนจอดรถเกะกะบนทางเท้านั่นแหละ รัฐบาลจึงใช้วิธีเพิ่มจุดจอดจักรยาน

✏️  และที่สำคัญ ทางเท้าไต้หวันที่กว้าง จะถูกจัดให้เป็นพื้นที่เชิงกิจกรรม คือให้มีที่นั่งพักเป็นระยะ มีการค้าขายแบบที่ได้รับอนุญาต มีต้นไม้ให้ความร่มรื่น เพื่อเพิ่มชีวิตชีวาให้กับเมือง

✏️  นอกจากนี้ยังให้ความสำคัญกับสังคมสูงวัยด้วย ไต้หวันจึงเริ่มออกกฎว่าทุกถนนต้องมีการเว้นพื้นที่สำหรับสร้างทางเท้า และความปลอดภัยของคนใช้ทางเท้า โดยเฉพาะ เด็ก สตรี คนชรา ผู้พิการ ต้องมาเป็นอันดับแรก

Popular Topics