eVTOL : เปลี่ยนอนาคตของการเดินทาง เมื่อไม่ต้องอยู่บนแค่ท้องถนนอีกต่อไป

Highlight

.

ในปี 2021 ภาคการขนส่งทั่วโลกมีการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์อยู่ที่ 7.7 พันล้านตัน สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาการสร้างมลภาวะจากการเดินทาง การขนส่งผู้โดยสารหรือสินค้า ที่นอกจากจะใช้ปริมาณน้ำมันเชื้อเพลิงมหาศาล กระทบต่อภาคการผลิตพลังงานแล้ว ในขณะเดียวกันก็สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมเพิ่มมากขึ้น

.

จึงเกิดแนวคิดในการปรับรูปแบบของการเดินทาง ที่จะต้องมีความสะดวกสบาย รวดเร็ว และลดการสร้างมลภาวะ จึงมีการพัฒนายานพาหนะที่ส่งเสริมการสร้างความยั่งยืน ทั้งรถยนต์จากพลังงานไฟฟ้า พลังงานแสงอาทิตย์ และอีกรูปแบบยานพาหนะที่กำลังถูกจับตามองและเป็นที่พูดถึง คือ eVTOL หรือ Electric Vertical Take Off and Landing ที่มีแนวโน้มจะกลายเป็นยานพาหนะแห่งอนาคตในอีกไม่กี่ปีข้างหน้านี้

.

#Agenda พาไปทำความรู้จัก eVTOL ว่าจะสามารถกลายเป็นยานพาหนะแห่งอนาคตได้อย่างไร

.

Electric Vertical Take Off and Landing หรือ eVTOL (อี-วี-โทล) เป็นรูปแบบยานพาหนะ EV ที่สามารถขึ้น-ลงในแนวดิ่ง และเคลื่อนที่ไปมาบนท้องฟ้าได้ มีจุดเริ่มต้นในปี 2009 โดย NASA ได้พัฒนาแนวคิดในการออกแบบยานพาหนะที่สามารถขึ้น-ลงได้ในแนวดิ่ง หลังจากนั้นแนวคิดดังกล่าวได้แพร่หลายไปเป็นวงกว้าง ส่งผลให้ภาคธุรกิจเกิดการแข่งขันกันออกแบบและเปิดตัว eVTOL อย่างต่อเนื่อง

.

โดยหลักการทำงานของ eVTOL คือการใช้ใบพัดที่อยู่รอบๆ ยานพาหนะทำการบินขึ้น-ลงในแนวดิ่งคล้ายกับเฮลิคอปเตอร์ และอาศัยพลังงานไฟฟ้าเป็นแรงขับเคลื่อน ซึ่งมีข้อดีคือ ใช้พื้นที่ในการลงจอดหรือทำการขึ้นบินน้อย มีความคล่องตัวและสะดวกในการใช้งาน โดยปัจจุบัน eVTOL เริ่มแพร่หลายในยานพาหนะหลายชนิด โดยเฉพาะรถยนต์ไฟฟ้ารุ่นใหม่ที่กลายเป็นอากาศยานส่วนบุคคลมากขึ้น

.

แล้วมีโอกาสสำคัญอะไรที่ eVTOL จะเติบโตได้บ้าง?

.

1.เทคโนโลยีแสนล้าน

อุตสาหกรรม eVTOL กำลังเติบโตอย่างต่อเนื่อง โดยมีมูลค่าทางการตลาดในปี 2022 สูงถึง 2.5 แสนล้านบาท โดยมีคู่แข่งที่สำคัญรายหลาย เช่น Airbus SE, Volocopter, XPeng, Joby Aviation, Uber และสตาร์ทอัพรายอื่นๆ ที่เร่งพัฒนา eVTOL ให้มีความโดดเด่นทั้งในแง่ของดีไซน์ ประสิทธิภาพของเครื่องยนต์และเเบตเตอรี่ นอกเหนือไปกว่านั้น ยังพัฒนาให้สามารถเป็นอากาศยานที่ไร้คนขับได้อีกด้วย 

.

ทั้งนี้มีการคาดการณ์ว่าภายในปี 2027 อุตสาหกรรม eVTOL จะมีมูลค่าทางการตลาดสูงถึง 6.8 แสนล้านบาท ด้วยความเชื่อมั่นว่า eVTOL จะสามารถยกระดับประสิทธิภาพด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ เช่น IoT, เชื้อเพลิงไฮโดรเจนและเซลล์แบตเตอรี่ล้ำสมัย, เซ็นเซอร์ออนบอร์ดและระบบป้องกันการชนกัน, เทคโนโลยี AI ตลอดจนการสื่อสารผ่านระบบ 5G เป็นต้น

.

2.คมนาคมโลกยุคใหม่

McKinsey ได้สำรวจความคิดเห็นจากผู้เชี่ยวชาญ โดยมีการระบุถึงความเป็นไปได้ที่จะมีการนำเอา eVTOL มาใช้เป็นยานพาหนะปกติที่ใช้ขนส่งผู้โดยสารและสินค้าภายในรัศมีไม่เกิน 100 ไมล์ ทั้งแบบมีคนขับและไร้คนขับ และจะสามารถบินขึ้นได้จากสวนหลังบ้าน ภายในปี 2030 แสดงให้เห็นถึงความสะดวกสบายและง่ายต่อการเข้าถึงของผู้ใช้งาน และหลีกเลี่ยงปัญหาการจราจรที่แออัด

.

3.ของเล่นใหม่ของกองทัพ

ความก้าวหน้าของเทคโนโลยี eVTOL ครอบคลุมไปถึงการพัฒนาเทคโนโลยีทางการทหาร โดยกองทัพอากาศสหรัฐอเมริกา ได้ใช้งบประมาณ 118 ล้านบาทในการจัดหา eVTOL จำนวน 5 ลำ เข้าประจำการเป็นครั้งแรก ภายใต้โครงการ Agility Prime ภายในปี 2023 นี้ ซึ่งจะมีบทบาทด้านการสนับสนุนงานขนส่งสินค้า และอาจใช้ในปฏิบัติการทางทหาร เพราะความสามารถในการบินขึ้น-ลงอย่างรวดเร็วในพื้นที่สู้รบ ที่สามารถแทรกซึมและบุกยึดพื้นที่ เข้าช่วยเหลือกำลังพลและผู้ประสบเหตุได้อย่างรวดเร็ว 

.

4.แท็กซี่ที่ไม่มีวันติด

นอกจากนี้ eVTOL ได้ปลุกกระแสการเป็นยานพาหนะที่ส่งเสริมความยั่งยืน ที่จะมีส่วนร่วมในมหกรรมสำคัญ โดย Volocopter ได้นำ eVTOL ทดลองบินและมีแผนที่จะใช้งานเป็นเที่ยวบินพาณิชย์ระยะสั้น ในช่วงการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกในปี 2024 ที่ฝรั่งเศส ในขณะที่ Overair สตาร์ทอัพจากสหรัฐฯ กำลังทดสอบ eVTOL ควบคู่ไปกับการขอใบอนุญาตจากองค์การบริหารการบินสหรัฐฯ หรือ FAA เพื่อดำเนินธุรกิจ ‘แท็กซี่บินได้’ ในการแข่งขันกีฬาโอลิมปิกที่จะจัดขึ้นปี 2028 ที่สหรัฐฯ เช่นเดียวกัน

.

จากที่กล่าวมา แสดงให้เห็นถึงการเข้ามาของเทคโนโลยี ที่อาจเป็นสัญญาณของการเปลี่ยนแปลงภาคการขนส่งและคมนาคม และเมื่อลองมองย้อนกลับมาที่ประเทศไทย ที่ยังเผชิญปัญหารถติดและมลพิษสะสมเต็มเมืองในปัจจุบัน จึงเกิดคำถามที่ว่า ถึงเวลาแล้วหรือยังที่เราควรมองหาการเดินทางที่ไม่จำเป็นต้องอยู่บนถนนอีกต่อไป แต่ยังคงรักษาสิ่งแวดล้อมให้ยั่งยืนได้เหมือนเดิม?

.

Sources : IEA, eVTOL Insights, Vertical, Volkswagen, VOA Thai, TNN, Techhub, Electrive, กรุงเทพธุรกิจ 

Popular Topics