เปิดวาร์ป Mega Project แก้น้ำท่วม แต่ละประเทศใช้งบเท่าไร ?

Highlight

ประเทศไทยขณะนี้ (ปี 2564) กำลังประสบภัยน้ำท่วมในหลายจังหวัดทั้งภาคกลาง ภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ และมีความกังวลว่าซ้ำรอยเดิม “มหาอุทกภัย” เมื่อ 10 ปีที่แล้วหรือไม่ ?

สอดคล้องกับสถานการณ์โลก หลายประเทศก็เผชิญปัญหาน้ำท่วมในทำนองเดียวกัน เช่น ประเทศจีน ประเทศฟิลิปปินส์ และประเทศในแถบยุโรป กระทบต่อชีวิตความเป็นอยู่ของประชาชนจำนวนมาก

กรีนพีซ ได้ออกมาเตือนว่า “อุทกภัย” เป็นภัยพิบัติธรรมชาติที่มีแนวโน้มรุนแรงมากขึ้นจากการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศ ทั้งอุทกภัยจากพายุมรสุมและการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเล ส่งผลให้หลายเมืองสำคัญทั่วโลกกำลังเสี่ยงจมน้ำในอีกไม่ถึง 20 ปี ข้างหน้า รวมทั้ง “กรุงเทพมหานคร” ด้วย

แต่เดิม “น้ำท่วม” ที่เกิดนาน ๆ ครั้ง มีความยากลำบากในการรับมือมากอยู่แล้ว เมื่อมีผลพวงจากสภาพอากาศแปรปรวน ยิ่งตอกย้ำให้แต่ละประเทศต้องตระหนักถึงการบริหารจัดการน้ำท่วมอย่างยั่งยืนมากขึ้น นำไปสู่การวางแผนจัดการน้ำ และทุ่มงบประมาณมหาศาลในหลายโปรเจคเพื่อป้องกันอุทกภัย

#AGENDA พาทุกคนเปิดวาร์ป MEGA Project แก้น้ำท่วม แต่ละประเทศใช้งบประมาณไปเท่าไร และแก้ปัญหาได้อย่างไรบ้าง ?

1. ผนังกั้นใต้น้ำ MOSE – อิตาลี 🇮🇹

ใช้งบประมาณรวม ~ 3,000,000 ล้านบาท

เมืองเวนิส ประเทศอิตาลี มีสภาพเป็นเกาะ มีปัญหาน้ำท่วมเรื้อรังตั้งแต่ศตวรรษที่ 5 และเผชิญปรากฏการณ์อัควา อัลตา (การยกตัวของน้ำทะเลในช่วง ต.ค. – มี.ค. ของทุกปี) น้ำท่วมใหญ่เวนิส ปี 1966 ทำให้ทางการริเริ่มมาตรการแก้ปัญหาน้ำท่วมอย่างต่อเนื่องจนทศวรรษที่ 1980 รัฐบาลกลางได้ลงทุนใน Mega Project ชื่อ “ผนังกั้นใต้น้ำ MOSE” ใช้งบลงทุนรวมจนเสร็จสิ้นโครงการกว่า 3,000,000 ล้านบาท

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ ผนังกั้นใต้น้ำ หรือ “แบริออร์” จำนวน 78 บาน ไว้ตามแนวช่องน้ำ มีฟังก์ชั่นสามารถยกตัวขึ้นเมื่อมีแนวโน้มว่าน้ำทะเลหนุนสูง และสามารถปรับลงเมื่อระดับน้ำต่ำลงจนเป็นปกติ โครงการนี้แล้วเสร็จในปี 2021 (ประสบปัญหาล่าช้าและการคอรัปชั่น)

การใช้งาน – การทดสอบจริงของผนังกั้นใต้น้ำ MOSE ประสบความสำเร็จอย่างยิ่ง ช่วยให้เมืองเวนิสยังคงแห้งสนิท ไม่เกิดน้ำท่วมในช่วงที่เกิดอัควา อัลตา เดือน ต.ค.64 ที่ผ่านมาได้เป็นครั้งแรกในรอบกว่า 1,200 ปี

ทั้งนี้ยังคงต้องมีการพัฒนาทางวิศกรรมต่อไป เนื่องจากความล่าช้าในการก่อสร้าง นักวิชาการคาดว่าอาจมีประสิทธิภาพไม่เพียงพอที่จะรองน้ำการเพิ่มขึ้นของระดับน้ำทะเลจากภาวะโลกร้อน แต่ก็ถือว่าเป็นโครงการที่ช่วยชาวเวนิสให้รอดพ้นน้ำท่วมได้อย่างดี


2. อุโมงค์ยักษ์คาสึคาเบะ – ญี่ปุ่น 🇯🇵

ใช้งบประมาณ ~ 140,000 ล้านบาท

ญี่ปุ่นมีภูมิประเทศเป็นเกาะ ตั้งบนแนวมรสุม และเป็นพื้นที่ราบต่ำ ปี 1991 เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ บ้านเรือนประชาชนกว่า 30,000 หลังคาเรือนจมอยู่ใต้น้ำ และมีผู้เสียชีวิต 52 คน หลังจากนั้นญี่ปุ่นมีการวางแผนการบริหารจัดการน้ำนำไปสู่การสร้างอุโมงค์ระบายน้ำขนาดยักษ์ “คาสึคาเบะ”

อุโมงค์คาสึคาเบะ เป็นอุโมงค์ใต้ดินที่ขนาดใหญ่ที่สุดในโลก สร้างขึ้นในปี 1992-2000 เพื่อป้องกันน้ำท่วมโตเกียวและเขตปริมณฑล วางโครงข่ายให้เชื่อมกับแม่น้ำสายย่อย เมื่อน้ำมีแนวโน้มจะล้นจะปล่อยน้ำลงไซโล (พื้นที่พักน้ำขนาดใหญ่) สูง 70 ม. กว้าง 30 ม. สำหรับผลักดันน้ำให้ไหลไปสู่แม่น้ำเอโดะและปล่องสู่อ่าวโตเกียวต่อไป

นอกจากนี้ มีการจัดตั้งศูนย์บริหารจัดการน้ำที่เมืองคาสึคาเบะ และเปิดเป็นสถานที่ท่องเที่ยวเชิงวิชาการ ให้คนทั่วไปสามารถเข้ามาชมความยิ่งใหญ่ของอุโมงค์ และเรียนรู้เทคโนโลยีการจัดการน้ำท่วมอีกด้วย 


3. กำแพงทะเล Delta Works – เนเธอร์แลนด์ 🇳🇱

ใช้งบประมาณ ~ 35,000 ล้านบาท

เนเธอร์แลนด์ เป็นประเทศที่มีภูมิศาสตร์ไม่ต่างจากไทยมากนัก ตั้งอยู่พื้นที่สามเหลี่ยมปากแม่น้ำ เชื่อมติดกับทะเล และแผ่นดินกว่าครึ่งต่ำกว่าระดับน้ำทะเล (คล้ายกับกรุงเทพฯ) และมีปัญหาน้ำท่วมซ้ำซากยากนานเป็นพันปี
.
ปี 1953 เนเธอร์แลนด์เกิดอุทกภัยครั้งใหญ่ รุนแรงที่สุดครั้งหนึ่งในประวัติศาสตร์ คร่าชีวิตผู้คนกว่า 2,000 คน หลังจากนั้นทางการจึงผลักดันแผนบริหารจัดการน้ำอย่างจริงจังภายใต้ชื่อ “Delta Works”
.
สิ่งที่เกิดขึ้น คือ กำแพงทะเลกันคลื่น-ลมพายุ เขื่อนกั้นน้ำทะเลและแม่น้ำแยกจากกัน สร้างประตูระบายน้ำปิดกันไม่ให้น้ำทะเลไหลสู่พื้นที่อยู่อาศัยในหน้ามรสุม รวมทั้งสร้างสถานีสูบน้ำ คันกันน้ำ ทั้งหมดแล้วเสร็จในปี 1997
.
หลังจากนั้นมีการปรับปรุงสภาพภูมิประเทศให้มีพื้นที่รองรับน้ำมากขึ้น สนับสนุนงบประมาณให้ประชาชนย้ายที่อยู่ใหม่ออกจากที่ขวางทางน้ำ มีการเก็บภาษีน้ำท่วมในประชาชนที่ไม่ย้ายออก และระบุว่าหากเกิดน้ำท่วมรัฐบาลอาจไม่มีการเยียวยา
.
ปัจจัยความสำเร็จของ Delta Works คือการทำความเข้าใจธรรมชาติเรื่องน้ำและส่งเสริม “การอยู่ร่วมกับน้ำ” อย่างยั่งยืน สร้างประโยชน์ไปถึงการเกษตร การคมนาคม และการท่องเที่ยว นับเป็นโครงการบริหารจัดการน้ำที่ดีที่สุดแห่งหนึ่งที่ได้รับการยอมรับในระดับโลก


4. ผนังกั้นแม่น้ำเทมส์ – อังกฤษ 🇬🇧

ใช้งบประมาณ ~ 50,000 ล้านบาท


พื้นที่บริเวณปากแม่น้ำเทมส์ ประสบปัญหาอุทกภัยทางทะเลเหนืออยู่บ่อยครั้ง โดยเมื่อถึงหน้ามรสุมจะเกิดคลื่นยักษ์ซัดเข้าสู่แผ่นดิน เกิดน้ำท่วมพื้นที่เมืองยาวไปถึงในเขตลอนดอน

กระทั่งเหตุการณ์ในปี 1953 แม่น้ำเทมส์ล้นอ่อท่วมสองฝั่งแม่น้ำคร่าชีวิตผู้คนไปกว่า 300 ราย  นับเป็นภัยพิบัติธรรมชาติครั้งเลวร้ายที่สุดในบุโรปตอนเหนือในรอบ 200 ปีหลังจากนั้นอังกฤษจึงตระหนักจึงความสำคัญของการบริหารจัดการพื้นที่รอบแม่น้ำเทมส์

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ โครงการ ‘Thames Barrier’ ผนังกั้นน้ำรูปทรงกลมมน เรียงเป็นแนวยาวขวางน้ำน้ำเทมส์ ซึ่งจะติดตั้งประตูระบายน้ำไว้ข้างล่าง แล้วเสร็จปี 1984 แล้วใช้งานมาจนถึงปัจจุบัน ทำหน้าที่ควบคุมน้ำท่วมจากน้ำทะเลหนุนสูง และเป็นปราการด่านหน้าป้องกันคลื่นยักษ์ที่ซันจากทะเลเข้าหาฝั่งในหน้ามรสุม สามารถเคลื่อนที่ได้ และปรับขึ้นลงได้ตามสถานการณ์ของน้ำทะเล


5. อุโมงค์ระบายน้ำ กทม. – ไทย 🇹🇭

ใช้งบประมาณ 26,000 ล้านบาท (เฉพาะปี 65-69)

อุทกภัยปี 2554 เป็นหมุดหมายสำคัญที่ทำให้รัฐตระหนักถึงการบริหารจัดการน้ำอย่างเป็นระบบมากขึ้น สำหรับพื้นที่กรุงเทพมหานคร นอกจากได้รับผลกระทบจากปี 2554 แล้ว ยังประสบปัญหาน้ำระบายไม่ทัน ในช่วงที่ฝนตกหนักติดต่อกันเป็นเวลาไม่กี่ชั่วโมง

ปริมาณน้ำฝนที่กรุงเทพฯ รองรับได้ คือ 60 มม. เท่านั้น หากมากกว่านี้จะเกิดน้ำท่วมถนน และใช้เวลานานกว่าจะระบายได้หมด ขีดความสามารถการระบายน้ำของกรุงเทพฯ รองรับไม่ไหว โครงการที่เป็นความหวังของคนกรุง คือ “อุโมงค์ระบายน้ำ”

สิ่งที่เกิดขึ้น คือ การวางแผนสร้างอุโมงค์ระบายน้ำใต้ความสูงประมาณ 5 เมตร สำหรับรองรับน้ำจากพื้นดินข้างบน และระบบส่งน้ำไปยังแม่น้ำเจ้าพระยา ปี 2564 นี้ ได้มีการสร้างอุโมงค์เพิ่มอีก 6 แห่ง รวมเป็น 10 แห่ง ก่อนหน้าของเดิม 4 แห่งเริ่มมีการเปิดใช้ไปแล้ว 2 แห่งและอีก 2 แห่ง กำหนดเสร็จและส่งมอบล่าช้า

ที่ผ่านมา 2 อุโมงค์ที่เปิดใช้ก็ยังประสบปัญหา ทั้งขยะอุดตันท่อน้ำให้ระบายน้ำช้า และเกิดไฟฟ้าดับในระหว่างใช้งาน แม้อุโมงค์สามารถช่วยระบายน้ำได้จริง แต่คนกรุงยังอาจไม่ได้รับสัมผัสถึงการแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ดีเท่าที่ควร  เพราะอุโมงค์ระบายน้ำไม่เป็นไม่ตามประสิทธิภาพที่คาดหวัง

คาดว่าหากแก้ปัญหาขยะได้ อุโมงค์จะช่วยให้น้ำท่วม กทม. สามารถระบายลงแม่น้ำเจ้าพระยาได้เร็ว และแก้ปัญหาน้ำท่วมได้ในที่สุด


6. ทางน้ำไหล Erchong  – ไต้หวัน 🇹🇼

ใช้งบประมาณ ~ 1,500 ล้านบาท

กรุงไทเป ประเทศไต้หวัน ตั้งอยู่ใกล้แม่น้ำ Tamsui ซึ่งเป็นที่ไหลรวมกันของแม่น้ำ Dahan, Xiandian และ Keelung ก่อนไหลออกทะเลที่ช่องแคปไต้หวัน มีสภาพอากาศที่ประสบพายุไต้ฝุ่นบ่อยครั้ง จึงเป็นอีกเมืองหนึ่งที่สุ่มเสี่ยงเกิดน้ำท่วม

ปี 1963 ไต้ฝุ่นกลอเรีย ทำให้เกิดอุทักภัยครั้งใหญ่ในกรุงไทเป หลังจากนั้นจึงนำไปสู่แนวคิดการสร้าง Floodways หรือทางน้ำไหล เพื่อรองรับน้ำท่วมในอนาคต หรือเป็นที่รู้จักกันในชื่อ “Erchong Floodways” เริ่มก่อสร้างปี 1979-1996

ทางการได้ขุดพื้นที่รับน้ำครอบคลุมพื้นที่ 1,050 เอเคอร์ บนพื้นที่ฝั่งซ้ายของแม่น้ำ Tamsui โดยคำนึงทิศทางการไหลของน้ำให้ไหลลงทะเลได้เร็วขึ้น และรื้อสิ่งปลูกสร้างที่ขวางทางน้ำออก ในช่วงฤดูน้ำหลากหรือมีมรสุมพื้นที่ทางน้ำไหลนี้จะช่วยรอบรับน้ำไม่ให้ท่วมพื้นที่เมืองได้เป็นอย่างดี

ช่วงน้ำน้อยพื้นที่ Floodways ก็จะกลายเป็นพื้นที่สีเขียวขนาดใหญ่ สำหรับเป็นพื้นที่สาธารณะของประชาชน มีสวนหย่อม สนามเด็กเล่น สนามกีฬา และเขตพื้นที่ฟื้นฟูระบบนิเวศพื้นที่ราบลุ่มแม่น้ำ เป็นการออกแบบการใช้ประโยชน์พื้นที่ให้คุ้มค่าและเกิดความยั่งยืนสำหรับอนาคต

การบริหารจัดการน้ำท่วมเป็นความท้าทายของรัฐที่จะช่วยเหลือจะปกป้องประชาชนให้รอดพ้นจากภัยพิบัติธรรมชาติ โดยเริ่มต้นตั้งแต่การป้องกัน หรือหากไม่สามารถต้านทานได้จริง ก็ต้องมีวิธีรับมือให้เกิดความเสียหายต่อชีวิตและทรัพย์สินของประชาชนให้มากที่สุด

ที่มา: IUrban, WorkPointToday, The Guardian, กรุงเทพธุรกิจ, GOV.uk, ไทยรัฐออนไลน์

Popular Topics