เมื่อ ‘เมืองรอง’ ถูกขับเคลื่อนด้วย ‘Data’ การท่องเที่ยวจะเปลี่ยนไปแค่ไหน? : สรุป 4 ประโยชน์จาก Mobility Data Dashboard

Highlight

แม้ว่าการท่องเที่ยวจะเป็นสร้างรายได้มหาศาลให้กับประเทศ แต่ในช่วงที่ผ่านหากเปรียบเทียบให้เห็นภาพง่ายๆ รายได้ 100 บาทจากการท่องเที่ยว จะมี 80 บาทที่ยังคงกระจุกตัวอยู่เพียงเมืองท่องเที่ยวหลักไม่กี่จังหวัดเท่านั้น ส่วนอีก 20 บาทกระจายสู่จังหวัดที่เหลือ 

.

ในขณะที่การท่องเที่ยวกำลังเพิ่มปริมาณมากขึ้น ถือเป็นโอกาสอันดีที่จะเกิดการสร้าง “สมดุล” ระหว่างการกระจายนักท่องเที่ยว ใช้ดาต้าดึงจุดแข็งเมืองรอง เพื่อให้เกิดผลลัพธ์ทางเศรษฐกิจไปสู่จังหวัดที่เป็นเมืองรองด้านการท่องเที่ยวที่มีอยู่ 55 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อส่งเสริมให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวเมืองรองเข้มแข็งและเติบโตอย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นและชุมชนได้มากยิ่งขึ้น

.

ด้วย Mobility Data Dashboard จากดีแทค คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บ เครื่องมือที่จะทำให้เมืองรองสามารถพัฒนาจุดแข็งตามศักยภาพที่แตกต่างกันของแต่ละเมือง ด้วยข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวทั่วไทยแบบเจาะลึก ครอบคลุม 77 จังหวัด พร้อมบทวิเคราะห์ศักยภาพเมืองรองอีก 55 จังหวัดผ่านข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวกว่า 5.39 ล้านทริป

.

โดยไฮไลต์สำคัญของ Mobility Data Dashboard คือ ‘ดัชนีชี้วัดศักยภาพ และข้อแนะนำเชิงนโยบายการท่องเที่ยวเมืองรองใน 55 จังหวัด’ ซึ่งในแต่ละจังหวัดมีศักยภาพในการพัฒนาแต่ละด้านที่แตกต่างกัน 

.

#Agenda เปิด 4 ประโยชน์ของ Mobility Data Dashboard ที่ไม่ควรพลาด ไปติดตามพร้อมกัน

.

สำรวจ Mobility Data Dashboard และทดลองเข้าไปใช้งานกันได้ที่

https://dtac.co.th/mobility-data/dashboard/

.

1.ชูจุดแข็งเมืองรองด้วยดัชนี 3 ด้าน

จากการวิเคราะห์ Mobility Data ถึงพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยว สามารถสรุป 3 แนวทางเพื่อการส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้ ดังนี้

.

1) Micro Tourism 

เป็นการดึงดูดนักท่องเที่ยวที่เดินทางแบบเช้าไปเย็นกลับในระยะการเดินทางประมาณ 150 กิโลเมตร หรือใช้เวลาเดินทางราว 1-2 ชั่วโมง ซึ่งมีแนวโน้มเป็นที่นิยมของนักท่องเที่ยวทั้งในกลุ่มครอบครัว กลุ่มวัยทำงาน และกลุ่มวัยเกษียณอายุ โดยการผลักดันให้เกษตรกรและผู้ผลิตรายย่อยร่วมกันพัฒนากิจกรรมที่นักท่องเที่ยวสามารถมีส่วนร่วมในกระบวนการผลิตผลผลิตและสินค้าของท้องถิ่น 

.

จังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งเสริม Micro Tourism ควรส่งเสริมให้นักท่องเที่ยวได้เรียนรู้ประสบการณ์ใหม่ สร้างรายได้เสริม มุ่งเน้นการใช้สถานที่และอุปกรณ์เดิมมาประยุกต์ใช้เพื่อลดต้นทุน ตัวอย่างเช่น เวิร์คชอปเรียนรู้การทำหัตถกรรมพื้นบ้าน การเที่ยวชมชุมชนเกษตรกรรมร่วมกับไกด์ท้องถิ่น การทดลองทำอาหารพื้นถิ่น การร่วมเก็บเกี่ยวผลผลิตทางการเกษตร เป็นต้น

.

2) การพัฒนาการท่องเที่ยวแบบค้างคืนเพื่อสร้างประสบการณ์ใหม่ 

Experience-based overnight tourism เป็นอีกแนวทางหนึ่งในการกระจายผลลัพธ์เชิงบวกจากการท่องเที่ยวสู่เมืองรอง การท่องเที่ยวแบบค้างคืนเป็นกลไกสำคัญในการเพิ่มมูลค่าการใช้จ่ายและเวลาพำนักของนักท่องเที่ยว และยังสร้างความสัมพันธ์ที่ดีระหว่างนักท่องเที่ยวกับชุมชนในช่วงระยะเวลาพักค้าง 

.

จังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบค้างคืน ควรเปิดโอกาสให้ท้องถิ่นนำเสนอและออกแบบการมีส่วนร่วมของนักท่องเที่ยวในกิจกรรมที่สร้างผลกระทบเชิงบวกให้กับชุมชน เช่น การเข้าร่วมเทศกาล การร่วมกิจกรรมบูรณะอาคารที่มีคุณค่าทางประวัติศาสตร์ การร่วมปลูกและดูแลป่าชุมชน  เและการสร้างกลุ่มผู้สนับสนุน (fanbase) สำหรับสินค้าและบริการของท้องถิ่นในระยะยาว

.

3) การส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด (Tourism Cluster) 

เป็นแนวคิดการส่งเสริมให้เกิดการพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดเมืองรองที่นักท่องเที่ยวมีแนวโน้มเดินทางไปเยือนในการเดินทางท่องเที่ยว 1 ทริป เพื่อเพิ่มทางเลือกในเป้าหมายการเดินทางท่องเที่ยวให้กับผู้มาเยือน ซึ่งจะช่วยเพิ่มทั้งแรงดึงดูดนักท่องเที่ยวให้มาเยือนพื้นที่ เพิ่มการใช้เวลาในการท่องเที่ยวภายในประเทศ และกระจายรายได้ไปสู่ชุมชนและท้องถิ่นในจังหวัดเมืองรอง 

.

จังหวัดที่มีศักยภาพในการส่งเสริมการท่องเที่ยวแบบกลุ่มจังหวัด ควรพัฒนากิจกรรมและเส้นทางการท่องเที่ยวร่วมกันระหว่างกลุ่มจังหวัดอาจดำเนินการได้โดยการสร้างเรื่องราว (Storytelling) เชื่อมโยงสถานที่และกิจกรรมการท่องเที่ยวระหว่างจังหวัด การจัดโปรโมชั่นส่วนลดที่พักและร้านอาหารในกลุ่มจังหวัด การพัฒนากิจกรรมเพื่อสะสมแต้มผ่านสกุลเงินดิจิทัล (Cryptocurrency) ที่สามารถใช้ในแต่ละกลุ่มจังหวัด เป็นต้น 

.

จังหวัดที่ฉันอยู่เหมาะจะพัฒนาการท่องเที่ยวแบบไหน เช็คคะแนนศักยภาพเมืองรองได้ที่นี่ https://dtac.co.th/mobility-data/dashboard/ 

.

2.ข้อมูลเชิงพื้นที่ครอบคลุม 3 ระดับ การสำรวจแบบดั้งเดิมทำไม่ได้

Mobility Data Dashboard นี้ เป็นเครื่องมือที่พัฒนาโดยอาศัยกรอบการวิจัย ผ่านข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยว กว่า 5.39 ล้านทริป ครอบคลุมใน 77 จังหวัด 928 อำเภอ 6,554 ตำบล ต่างจากการสำรวจแบบสอบถามแบบดั้งเดิม ซึ่งอาจมีข้อจำกัดในด้านงบประมาณ ไม่สามารถสำรวจได้ทุกตำบลทั่วประเทศไทย

.

3.วิเคราะห์กลุ่มเป้าหมายได้ละเอียด 

Mobility Data Dashboard สามมารถวิเคราะห์กลุ่มเป้าหมาย ที่ผู้ใช้งานสามารถเลือกข้อมูลที่เกี่ยวข้องของแต่ละจังหวัด โดยแบ่งข้อมูลออกเป็น 3 ส่วน ได้แก่

.

1) ภาพรวมจังหวัด 

ประกอบด้วยข้อมูล 10 จังหวัดภูมิลำเนาของนักท่องเที่ยวที่เดินทางเข้ามาในจังหวัดและ 10 อันดับปลายทางที่คนในจังหวัดออกไปท่องเที่ยว ปริมาณการท่องเที่ยวแบบไป-กลับและค้างคืน รวมถึงการแสดงผลดัชนีชี้วัดศักยภาพในรูปแบบกราฟประเมินศักยภาพ และข้อเสนอเชิงนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวตามศักยภาพที่ต่างกันของเมืองรอง

.

2) เจาะลึกระดับอำเภอและตำบล 

ประกอบด้วยข้อมูล 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางวันสูงสุด (06.01-22.00 น.) และ 5 อำเภอที่มีการกระจุกตัวนักท่องเที่ยวในช่วงเวลากลางคืนสูงสุด (22.01-06.00 น.) หรือเลือกแบบดูละเอียดได้ถึง 7 ช่วงเวลา นอกจากนี้ ยังระบุข้อมูลการกระจุกตัวตามช่วงวันหยุด ซึ่งแบ่งเป็นประเภทวันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาว และวันหยุดเทศกาล

.

3) ท่องเที่ยวแบบคลัสเตอร์หรือกลุ่มจังหวัด

ประกอบด้วยข้อมูลแสดงปริมาณทริปการเดินทางระหว่างกันของกลุ่มจังหวัดหรือคลัสเตอร์ที่นักท่องเที่ยวมักจะเดินทางไปเยือนในทริปเดียวกัน ซึ่งในแต่ละจังหวัดนั้น สามารถจับกลุ่มการท่องเที่ยวเพื่อออกแบบนโยบายส่งเสริมการท่องเที่ยวร่วมกันได้ตั้งแต่ 1-3 กลุ่ม

.

4.ข้อมูลส่วนตัวยังปลอดภัย

ข้อมูลที่ถูกนำไปวิเคราะห์ หรือ Mobility Data สามารถระบุช่วงเวลาการใช้งาน รูปแบบการใช้งาน รวมถึงตำแหน่งของการใช้งาน ซึ่งก่อนจะนำไปวิเคราะห์ ซึ่งดีแทค DTAC ได้ทำให้ข้อมูลไม่สามารถระบุตัวตน ผ่านเทคนิค Data anonymization (One-way Hashing with SHA-256)

.

ทำให้ข้อมูลระหว่างเดือนมิถุนายน 2563 ถึง เดือนตุลาคม 2564 ที่มีขนาดนับ “หมื่นล้านชุด” ถูกจัดทำให้อยู่ในระดับ “ตำบล” เมื่อทำการนิรนามข้อมูลและสุ่มกลุ่มตัวอย่างให้อยู่ปริมาณที่สามารถดำเนินการวิเคราะห์ได้อย่างมีประสิทธิภาพแล้ว จึงนำข้อมูลส่งต่อนักวิจัยผ่านโครงข่ายส่วนตัว (Private network) ภายใต้การกำกับดูแลตามนโยบายปกป้องทางไซเบอร์ที่เคร่งครัดของดีแทค เพื่อนำไปวิเคราะห์ต่อไป

.

ทั้งนี้ ในแต่ละจังหวัดสามารถพัฒนาศักยภาพการท่องเที่ยวได้ตามความเหมาะสมของจังหวัดนั้นๆ และนอกจากการวิเคราะห์ข้อมูลในรูปแบบดัชนีชี้วัดศักยภาพแล้ว Mobility Data Dashboard ยังนำเสนอข้อมูลพฤติกรรมการเดินทางของนักท่องเที่ยวรูปแบบอื่นๆ ที่สามารถนำมาวิเคราะห์และใช้งานเพื่อโปรโมทการท่องเที่ยวได้ เช่น

.

ปริมาณการเดินทางเข้า – ออกจังหวัดและปริมาณการท่องเที่ยวแบบค้างคืนในจังหวัด การกระจุกตัวของนักท่องเที่ยวตามช่วงเวลา ลงลึกถึงระดับอำเภอ การกระจุกตัวตามประเภทของวันหยุด 3 รูปแบบ วันหยุดสุดสัปดาห์ วันหยุดยาวติดเสาร์-อาทิตย์ และวันหยุดเทศกาล 

.

ทั้งนี้การแสดงข้อมูลพฤติกรรมการท่องเที่ยวเข้าและออกจังหวัดของประชากร จะช่วยให้กลุ่มผู้ประกอบการรู้จักกลุ่มเป้าหมาย สามารถโปรโมทสินค้าและบริการได้อย่างแม่นยำ และมีประสิทธิภาพมากยิ่งขึ้น อีกทั้งทำให้แต่ละจังหวัดสามารถจัดทำแผนส่งเสริมการท่องเที่ยวได้อย่างตรงจุด และเข้าถึงนักท่องเที่ยวได้ดี เป็นแนวทางที่ช่วยประสานความร่วมมือภาคการท่องเที่ยวของแต่ละจังหวัด ให้สามารถตั้งเป็นกลุ่มจังหวัด ที่จะสนับสนุนและกระจายรายได้ไปสู่ท้องถิ่นอย่างทั่วถึงในอนาคต

.

Mobility Data Dashboard ที่ดีแทค คณะสถาปัตย์ จุฬาฯ และบุญมีแล็บร่วมกันพัฒนาขึ้นในครั้งนี้ จะช่วยสร้างการมีส่วนร่วมของภาคส่วนต่างๆ ในการใช้ประโยชน์เพื่อสังคม เช่น ด้านการจราจรและการคมนาคม ด้านการพัฒนาพื้นที่สาธารณะ ด้านบริการสาธารณสุข อีกทั้งช่วยสนับสนุนให้ผู้ประกอบการธุรกิจด้านการท่องเที่ยว ร้านอาหาร โรงแรมและที่พัก การขนส่งและคมนาคม สามารถวิเคราะห์พฤติกรรมการท่องเที่ยว และให้บริการแก่นักท่องเที่ยวได้อย่างทั่วถึงและครอบคลุม อีกทั้งช่วยส่งเสริมการท่องเที่ยวเมืองรองได้อย่างเป็นระบบและยั่งยืนต่อไป

.

Source : ดีแทค

.

#Mobilitydata #Dashboard #ดีแทค

Popular Topics