จากการศึกษาข้อมูลโดยองค์การเพื่อความร่วมมือและการพัฒนาทางเศรษฐกิจ (Organisation for Economic Co‑operation and Development – OECD) เปิดเผยว่า ทั่วโลกมีการสร้างขยะพลาสติกรวมกันถึง 350 ล้านตันในปี 2019 แต่มีจำนวนขยะพลาสติกเพียง 9% เท่านั้นที่ถูกนำกลับมาใช้ใหม่
.
ในขณะที่ขยะพลาสติกที่เหลือราว 17% หรือราว 61 ล้านตันถูกนำไปทิ้งตามจุดต่างๆ โดยไม่มีการควบคุม หรือไม่ก็ถูกนำไปเผาในที่โล่งแจ้ง หรือปล่อยทิ้งให้ปนเปื้อนสิ่งแวดล้อม โดยเฉพาะการปล่อยขยะพลาสติกลงในแหล่งน้ำ ซึ่งท้ายที่สุดขยะเหล่านี้จะไหลออกสู่ทะเล และใช้เวลาย่อยสลายที่ยาวนานก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งมีชีวิตทุกชนิด ขยะพลาสติกชนิดดังกล่าวเรียกว่า ขยะพลาสติกที่ไม่มีการจัดการที่เหมาะสม หรือ MPW (Mismanaged Plastic Waste)
.
อย่างไรก็ดี ทั่วโลกต่างกำลังผลักดันวิธีการจัดการขยะพลาสติกในประเทศ รวมไปถึงสนับสนุนแผนในการจัดการขยะพลาสติกทั้งจากภาครัฐและเอกชนอย่างเเข็งขัน ในขณะที่ประเทศไทยเป็นหนึ่งในประเทศที่มีปัญหาขยะพลาสติกมากที่สุดเป็นอันดับต้นๆ ของโลก ได้ตั้งเป้าหมายไว้ว่าภายในปี 2030 ประเทศไทยจะสามารถลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ประมาณ 0.78 ล้านตันต่อปี
.
#Agenda จะพาไปติดตามปริมาณขยะพลาสติกของแต่ละชาติ พร้อมเปิดแนวทางในการจัดการขยะพลาสติกของแต่ละประเทศเมื่อเทียบกับไทย ไปติดตามได้พร้อมกัน
.
.
อินเดีย 🇮🇳
อินเดียถือเป็นประเทศที่มีปริมาณขยะ MPW (Mismanaged Plastic Waste) มากที่สุดในโลก โดยคิดเป็นปริมาณขยะพลาสติกสูงถึง 13 ล้านตันในปี 2019 คิดเป็น 21% ของปริมาณขยะพลาสติก MPW ทั่วโลก ซึ่งอินเดียกำลังเผชิญปัญหาขยะพลาสติกล้นเมือง จากตัวเลขดังกล่าวระบุว่าปัจจุบันอินเดียมีปริมาณขยะพลาสติกเฉลี่ยประมาณ 4 ล้านตันต่อปี โดยขยะพลาสติกหนึ่งในสามไม่ได้ถูกนำไปรีไซเคิล แต่ถูกทิ้งลงในแหล่งน้ำหรือในหลุมฝังกลบที่มักจะเกิดไฟไหม้ ส่งผลทำให้มลพิษทางอากาศรุนแรงขึ้น
.
โดยนายกรัฐมนตรีนเรนทรา โมดี ของอินเดียได้ประกาศเป้าหมายที่จะยกเลิกการใช้พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง (Single Use Plastics : SUPs) ภายในปี 2022 โดยตั้งเป้าว่าจะบังคับใช้กฎหมายอย่างจริงจังหลังจากนี้ เริ่มตั้งแต่การตรวจสอบผู้ผลิต ซัพพลายเออร์ ตลอดจนผู้จัดจำหน่าย ซึ่งเป็นต้นทางของการสร้างขยะพลาสติก และหากพบว่ามีการฝ่าฝืนจะมีโทษปรับสูงสุด 100,000 รูปีอินเดีย คิดเป็นเงินไทยประมาณ 45,000 บาท หรือโทษจำคุก 5 ปี
.
นอกจากนี้ รัฐบาลอินเดียยังได้จัดตั้ง National Dashboard on Elimination of Single Use Plastic and Plastic Waste Management (MoEFCC) ซึ่งเป็นการติดตามความคืบหน้าในการกําจัดพลาสติกแบบใช้แล้วทิ้ง และการจัดการขยะพลาสติกอย่างมีประสิทธิภาพ โดยผสานความร่วมมือทั้งภาครัฐและเอกชน ตลอดจนให้ประชาชนมีส่วนร่วมผ่าน Moblie Application ที่สามารถตรวจสอบและร้องเรียนเพื่อจัดการปัญหาขยะพลาสติกในชุมชนได้อย่างทั่วถึง
.
.
จีน 🇨🇳
หนึ่งในประเทศที่ผลิตและส่งออกพลาสติกมากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยในปี 2019 จีนมีปริมาณขยะ MPW อยู่ที่ 12.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 20% ของปริมาณ MPW ทั่วโลก โดย 1 ใน 3 ของโรงงานผลิตพลาสติกใช้ครั้งเดียวมีฐานการผลิตส่วนใหญ่ตั้งอยู่ที่จีน นอกจากนี้จีนยังพบปัญหาในการจัดการขยะพลาสติกที่ทิ้งลงสู่แม่น้ำสายสำคัญอย่างแม่น้ำแยงซีเกียง ที่พบการปนเปื้อนไมโครพลาสติกในสัตว์น้ำอย่างน้อย 21 ชนิด
.
ด้วยเหตุนี้ รัฐบาลจีนจึงออกกฎหมายและข้อบังคับใหม่เพื่อจํากัดปริมาณขยะพลาสติกในปี 2020 และประกาศแผนสําหรับปี 2021 ถึง 2025 ซึ่งมีเป้าหมายเพื่อปรับปรุงการจัดการมลพิษจากขยะพลาสติกทั้งหมด รวมถึงมาตรการในการเลิกใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวทิ้ง และเป้าหมายลดการผลิตพลาสติกและกำจัดขยะโดยการเผา โดยได้กำหนดขีดความสามารถในการเผาขยะภายในเมืองให้ได้ถึง 800,000 ตันต่อวันภายในปี 2025
.
อีกทั้งอุตสาหกรรมอีคอมเมิร์ซที่เติบโตอย่างรวดเร็วทั้งในและต่างประเทศ รัฐบาลจีนจึงผลักดันให้ธุรกิจประเภทค้าปลีก อีคอมเมิร์ซและธุรกิจที่จัดส่งพัสดุด่วนทั้งหมด ลดการใช้บรรจุภัณฑ์พลาสติกแบบใช้แล้วทิ้งภายในปี 2025 โดยตั้งเป้าที่จะนำกล่องพัสดุกลับมารีไซเคิลให้ได้อย่างน้อย 10 ล้านกล่อง และยังส่งเสริมการใช้วัสดุทางเลือกในการทำบรรจุภัณฑ์ เช่น ไม้ไผ่ ไม้ และกระดาษ เพื่อให้สอดคล้องกับนโยบายเป็นกลางทางคาร์บอนในปี 2060 ต่อไป
.
.
ฟิลิปปินส์ 🇵🇭
ฟิลิปปินส์มีปริมาณขยะ MPW อยู่ที่ 4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 7% ของปริมาณ MPW ทั่วโลกในปี 2019 โดยเมืองวาเลนซูเอลาในฟิลิปปินส์มีปัญหาในเรื่องขยะพลาสติก เนื่องจากประกอบไปด้วยโรงงานรีไซเคิลพลาสติก ที่นำเข้าขยะพลาสติกจากต่างประเทศเพื่อรีไซเคิลเป็นจำนวนมาก โดยเฉพาะการนำเข้าจากประเทศแคนาดา อีกทั้งวิธีการจัดการขยะพลาสติกของโรงงานดังกล่าวได้สร้างมลพิษทางอากาศและส่งผลกระทบอย่างยิ่งต่อชีวิตของผู้คนในพื้นที่เป็นอย่างยิ่ง
.
นอกจากนี้ปัญหาความยากจนในฟิลิปปินส์ส่งผลให้ครอบครัวที่มีรายได้น้อยเลือกซื้อเครื่องอุปโภคและบริโภคในลักษณะที่แบ่งขายแบบบรรจุในซอง แม้จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายแต่จะสร้างขยะพลาสติกปริมาณมหาศาล กระทรวงสิ่งแวดล้อมและทรัพยากรธรรมชาติของฟิลิปปินส์จึงแก้ปัญหาโดยการเตรียมออกกฎหมายที่เน้นให้ผู้ผลิตมีความรับผิดชอบในการจัดการขยะพลาสติก (Extended Producer Responsibility : EPR) โดยเตรียมกำหนดให้ธุรกิจต้องรีไซเคิลขยะพลาสติกให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2023
.
นอกจากนี้ ยังสนับสนุนโครงการท้องถิ่นที่มีระบบจัดการขยะพลาสติกอย่างเป็นรูปธรรม โดยหนึ่งในตัวอย่างที่เห็นได้ชัดเจนคือ The Blastik Project ที่รีไซเคิลขยะพลาสติกในชุมชนมาผลิตเป็นของตกแต่งบ้าน กระเป๋า และอื่นๆ ที่ช่วยสร้างรายได้เสริม โดยในปี 2021 โครงการ Blastik ที่สามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกมากกว่า 17 ตัน
.
.
บราซิล 🇧🇷
แม้จะอยู่อันดับที่สี่ของประเทศที่สร้างขยะ MPW แต่บราซิลก็มีปริมาณขยะพลาสติกสูงถึง 3.3 ล้านตัน หรือคิดเป็น 5% ของปริมาณ MPW ทั่วโลกในปี 2019 โดยปัญหาของการจัดการขยะพลาสติกในบราซิล คือสามารถรีไซเคิลขยะพลาสติกได้เพียง 1.28% ซึ่งหมายความว่าขยะพลาสติกที่เหลือส่วนใหญ่จะถูกเผา ฝังในหลุม ฝังกลบ หรือปล่อยลงน้ำ และก่อให้เกิดมลพิษทั้งบนบกและในทะเลตามมา
.
ซึ่งภาครัฐได้ริเริ่มมาตรการในการควบคุมการสร้างขยะพลาสติกอย่างจริงจัง ดังเช่นในเมืองเซาเปาโล เมืองที่มีขนาดใหญ่ที่สุดของประเทศบราซิล ได้ประกาศสงครามกับ “พลาสติก” โดยออกกฎหมายใหม่ที่ห้ามโรงแรม ร้านอาหาร และธุรกิจอื่นๆ ให้บริการภาชนะและข้าวของเครื่องใช้ต่างๆ ที่ทำจากพลาสติกแก่ลูกค้า โดยกำหนดให้เปลี่ยนไปใช้อุปกรณ์ที่สามารถย่อยสลายหรือสามารถใช้ซ้ำได้แทน
.
ทั้งนี้ได้กำหนดโทษปรับของผู้ฝ่าฝืนอยู่ที่ 1,000-8,000 เรอัลบราซิล หรือคิดเป็นเงินไทยประมาณ 7,300-58,000 บาท และหากฝ่าฝืนซ้ำอาจถูกสั่งปิดกิจการ นอกจากนี้ Oceana และ UNEP ยังได้ร่วมกันเปิดตัวแคมเปญ #DeLivreDePlástico ที่รณรงค์การสร้างขยะพลาสติกจากธุรกิจส่งอาหารแบบเดลิเวอรี่ ซึ่งได้รับการสนับสนุนจากประชาชน โดยพบว่า 72% ของผู้บริโภคต้องการจัดส่งอาหารโดยปราศจากการใช้พลาสติกใช้แล้วทิ้ง
.
.
ไทย 🇹🇭
ประเทศไทยถือเป็นประเทศที่สร้างปริมาณขยะพลาสติกในแต่ละปีสูงเป็นอันดับต้นๆ ในภูมิภาคอาเซียน โดยมีปริมาณ MPW อยู่ที่ 1.4 ล้านตัน หรือคิดเป็น 2% ของปริมาณ MPW ทั่วโลกในปี 2019 โดยจากการศึกษาวิเคราะห์ข้อมูลปัญหาขยะพลาสติกโดยสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยพบว่า ปัจจัยที่ทำให้ปัญหาขยะพลาสติกของประเทศไทยยังไม่คลี่คลาย เกิดจากพฤติกรรมของผู้บริโภคส่วนใหญ่ที่เน้นต้องการความสะดวกสบายในการใช้บรรจุภัณฑ์ที่พกพาได้ง่าย
.
ประกอบกับสถานการณ์แพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ทำให้ปริมาณการใช้พลาสติกแบบใช้ครั้งเดียวจากบริการส่งอาหาร (Food Delivery) เพิ่มมากขึ้น รัฐบาลจึงแก้ปัญหาโดยการผลักดัน Roadmap จัดการขยะพลาสติก ระยะที่ 1 มาตั้งแต่ปี 2020 – 2022 โดยตั้งเป้าว่าแผนดังกล่าวที่มีกรอบระยะเวลาถึงปี 2030 จะช่วยลดปริมาณขยะพลาสติกที่ต้องนำไปกำจัดได้ 0.78 ล้านตันต่อปี
.
ในขณะที่ภาคธุรกิจเอกชนมีการรวมตัวในนาม “PPP Plastics” (Public Private Partnership for Sustainable Plastic and Waste Management) ที่มีส่วนร่วมในการพัฒนาต้นแบบการจัดการพลาสติกแบบครบวงจรในจังหวัดระยอง และโครงการ “APCT” (Alliance Plastic Circularity Thailand) ที่ได้ร่วมมือกันสร้างโมเดลในการจัดการขยะในจังหวัดเชียงราย ผ่านการรวบรวมขยะพลาสติกนำไปรีไซเคิลเพื่อนำกลับมาใช้ประโยชน์ใหม่ เป็นต้น
.
ในขณะที่ภาพรวมของปริมาณขยะพลาสติก MPW ของอีก 10 ประเทศที่น่าจับตามอง เช่น
แทนซาเนีย 🇹🇿 1.7 ล้านตัน คิดเป็น 3%
ตุรกี 🇹🇷 1.6 ล้านตัน คิดเป็น 3%
อียิปต์ 🇪🇬 1.4 ล้านตัน คิดเป็น 2%
คองโก 🇨🇩 1.37 ล้านตัน คิดเป็น 2%
ปากีสถาน 🇵🇰 1.35 ล้านตัน คิดเป็น 2%
เวียดนาม 🇻🇳 1.1 ล้านตัน คิดเป็น 2%
บังกลาเทศ 🇧🇩 1.02 ล้านตัน คิดเป็น 2%
อินโดนีเซีย 🇮🇩 0.82 ล้านตัน คิดเป็น 1%
มาเลเซีย 🇲🇾 0.81 ล้านตัน คิดเป็น 1%
ซูดาน 🇸🇩 0.78 ล้านตัน คิดเป็น 1%
.
โดยสรุป ปัญหาขยะพลาสติกที่ตกค้างอยู่ในสิ่งแวดล้อมอาจเกิดจากผู้บริโภคที่ไม่ได้คัดแยกขยะมูลฝอย ไม่มีความเข้าใจในการรีไซเคิล เลือกกำจัดขยะพลาสติกที่ไม่ถูกต้อง และก่อให้เกิดปัญหาไมโครพลาสติกที่แพร่กระจายในทะเลทั่วโลก ส่งผลกระทบต่อระบบนิเวศทางทะเลและต่อมนุษย์ และถึงแม้จะมีแผนการหรือนโยบายจัดการขยะที่เป็นระบบ แต่หากมนุษย์ยังขาดจิตสำนึกในการจัดการขยะอย่างถูกวิธี ปัญหาขยะพลาสติกก็จะไม่มีวันหมดลงไปจากโลกใบนี้
.
Sources : VOA, World Population Review, Visual Capitalist, กรุงเทพธุรกิจ, THAIPOST, Law for Asean, Nikkei Asia, Earth.org, Manila Times, Enviliance Asia, Borgen Project, Oceana, TEI, Greenpeace, Workpointtoday