สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ประมุขแห่งคริสตจักร ผู้แง้มประตูสนับสนุนสิทธิ LGBTQ+

Highlight

“ศาสนา” กับ “ความหลากหลายทางเพศ” เป็นประเด็นตึงเครียดของสังคมที่ยังคงหาทางออกไม่ได้ลงตัว ศาสนาพุทธ ศาสนาอิสลาม ศาสนาคริสต์ และอื่น ๆ ยังคงมีความเชื่อดั้งเดิมที่มีมุมมองแง่ลบต่อกลุ่มผู้มีความหลากหลายทางเพศ ส่วนใหญ่ตีตราคนรักร่วมเพศว่า “คนบาป” ไม่ควรได้รับการยอมรับจากศาสนิกชนหรือการต้อนรับสู่ดินแดนของพระเจ้า เกิดเป็นความเกลียดชังและผลักสู่พื้นที่คนชายขอบของสังคม

กาลเวลาที่เปลี่ยนแปลงทำให้คนเปิดใจและยอมรับความหลากหลายมากขึ้น ศาสนาต่าง ๆ ประนีประนอมกับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น (โดยเฉพาะประเทศประชาธิปไตย) ทว่าประเทศที่เป็นรัฐศาสนาเข้มข้น ยังคงมีการต่อต้านคอมมูนิตี้ของกลุ่มคนหลากหลายทางเพศอยู่ เกิดเหตุการณ์ละเมิดสิทธิ คุกคาม หรือมีบทลงโทษทางกฎหมายรุนแรง ดังนั้น Movement ของศาสนาต่อกลุ่ม LGBTQ+ จึงค่อนข้างมีความสำคัญ

“สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส” นับว่าเป็นผู้นำศาสนาคริสต์ที่ชาว LGBTQ+ จับตามอง ถือเป็น “โป๊ป” คนแรก ๆ ที่แสดงท่าทีที่เป็นมิตรกับกลุ่มคนหลากหลายทางเพศมากขึ้น แม้จะมีเสียงติเตียนจากชาวคริสต์อนุรักษ์นิยมอยู่บ้าง แต่ทำให้บรรยากาศความขัดแย้งของศาสนจักรกับคนรักเพศเดียวกันผ่อนคลายลง แย้มประตูกำแพงของความเชื่อออกมากขึ้น สนับสนุนความหลากหลายทางเพศในขอบเขตที่ทำได้

สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ทรงเป็นพระสันตะปาปา ลำดับที่ 266 ดำรงตำแหน่งพระประมุขพระศาสนจักรโรมันคาทอลิกและนครรัฐวาติกัน ประสูติเมื่อวันที่ 17 ธันวาคม ค.ศ. 1936 (พ.ศ. 2479) ที่กรุงบัวโนสไอเรส ประเทศอาร์เจนตินา ถือเป็นพระสันตะปาปาพระองค์แรกที่มาจากทวีปอเมริกาใต้ เป็นพระองค์แรกที่มาจากซีกโลกใต้ และเป็นพระองค์แรกที่มาจากนอกทวีปยุโรป ปัจจุบัน อายุ 86 พรรษา

พระองค์เคยดำรงตำแหน่งอาร์ชบิชอปแห่งเขตศาสนปกครองกรุงบัวโนสไอเรส ก่อนสถาปนาเป็นพระคาร์ดินัล เมื่อปี ค.ศ. 2001 พระองค์ดำรงชีวิตอย่างสมถะ เรียบง่าย เป็นที่รักและนับถือของทุกคน และได้สถาปนาเป็นพระสันตะปาปาองค์ใหม่ หลังสมเด็จพระสันตะปาปากิตติคุณเบเนดิกต์ที่ 16 ทรงสละสมณศักดิ์ เมื่อ ค.ศ. 2013 ตามกระบวนการคัดเลือกพิจารณาที่ศาสนาคริสต์บัญญัติอย่างถูกต้อง

ย้อนกลับไปปี 2010 พระองค์ (ขณะเป็นพระคาร์ดินัล) เคยเขียนหนังแสดงถึงความไม่เห็นด้วยต่อประเด็นการสนับสนุนการแต่งงานและสิทธิในการรับบุตรบุญธรรมของคู่รักเพศเดียวกัน แต่หลังขึ้นเป็นสมเด็จพระสันตะปาปา องค์ที่ 266 ก็มีท่าทีประนีประนอมและแสดงความเห็นที่ซัพพอร์ตชาว LGBTQ+ มากขึ้น โดยเฉพาะด้านการเมือง เช่น การรับรองสิทธิในฐานะมนุษย์ ออกโรงพูดให้คริสตจักรเป็นมิตรต่อคนรักเพศเดียวกันมากขึ้น เป็นต้น แม้จะขัดต่อคำสอนของไบเบิ้ล แต่ความรักเป็นสิ่งสวยงามตามศาสนาเช่นกัน

ช่วงกรกฏาคม 2013 ปีที่เข้าดำรงตำแหน่งพระองค์เริ่มแสดงออกถึงการขับเคลื่อนชาว LGBTQ+ ต่อประเด็นบาทหลวงที่เป็นเกย์ว่า “ฉันเป็นใครถึงมีสิทธิไปตัดสินผู้คนที่เป็นเกย์”

เมื่อปี 2018 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสยังเคยตรัสขณะเยือนไอร์แลนด์ว่า พ่อแม่ไม่สามารถบอกปัดหรือไม่ยอมรับลูกที่เป็น LGBTQ+ ได้ พวกเขาต้องดูแลบุตรด้วยความรัก พ่อแม่ควรเปิดใจลูกที่มีความหลากหลายทางเพศ ความรักย่อมทำให้เด็ก ๆ เติบโตมาอย่างมีคุณภาพและเป็นพลเมืองที่ดี

เมื่อปี 2019 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสให้สัมภาษณ์กับสถานีโทรทัศน์ เทเลวิซา ของเม็กซิโกให้การรับรองการให้ความคุ้มครองด้านกฎหมายต่อคู่รักเพศเดียวกัน ซึ่งเป็นมุมมองทางโลกเท่านั้น และไม่ใช่ของศาสนจักร

ช่วงตุลาคม 2020 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสกล่าวว่าพระองค์คิดว่าการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกัน ควรได้รับการอนุญาตให้เป็นคู่ชีวิตที่ได้รับการรับรองสถานะอย่างถูกต้องตามกฏหมาย อาจเรียกได้ว่าเป็นประมุขของคริสจักรคนแรกที่มีแนวคิดรับรองการแต่งงานและการใช้ชีวิตคู่ของคนเพศเดียวกันอีกด้วย

ช่วงมกราคม 2023 ประมุขของคริสตจักรสัมภาษณ์กับ Associated Press ทรงวิพากษ์วิจารณ์กฎหมายที่กำหนดให้การรักเพศเดียวกันมีความผิดอาญาว่าเป็น “กฎหมายที่ไม่ยุติธรรม” และเรียกร้องให้บิชอปของคาทอลิกอนุญาตให้ LGBTQ+ ให้เข้ามาทำศาสนกิจในโบสถ์ได้ อธิบายว่า “เราต่างเป็นบุตรของพระเจ้า และพระเจ้าก็รักเราอย่างที่เราเป็น รักความเข้มแข็งที่เราแต่ละคนต่างต่อสู้เพื่อศักดิ์ศรีของเรา”

ช่วงกุมภาพันธ์ 2023 สมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสแสดงความเห็นแก่สื่อว่าการคาดโทษว่ากลุ่มรักร่วมเพศเป็นอาชญากรเป็นปัญหาที่ไม่ควรเพิกเฉย พร้อมยกตัวอย่างกว่า 50 ประเทศที่มีกฎหมายดังกล่าว เพราะผู้มีรสนิยมรักเพศเดียวกันถือเป็นบุตรของพระเจ้าที่ควรได้รับความยุติธรรมและความรัก

การแสดงออกของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิสในการสนับสนุนสิทธิของชาว LGBTQ+ คือการรับรองสิทธิความเป็นมนุษย์ที่พึงได้รับการเคารพและความรัก ส่วนใหญ่เป็นมุมมองทางโลก ไม่เกี่ยวข้องกับศาสนาจักร แม้ศาสนาจะมองว่าคนเหล่านี้เป็น “คนบาป” แต่พวกเขาไม่ใช่ “อาชญากร” ซึ่งไม่ควรมีความผิดเพียงแค่มีรสนิยมรักชอบเพศเดียวกัน อย่างไรก็ดี ฝ่ายวาติกันเองยังคงหนักแน่นในหลักคำสอนที่จะไม่ทำพิธีสมรส ประสาทพร ให้กับการสมรสของคนรักเพศเดียวกัน ด้วยเหตุผลตามพระคัมภัร์ที่ระบุว่า “พระเจ้า ไม่สามารถประสาทพรให้แก่บาปได้” และยังคงออกมาปฏิเสธการแสดงออกของโป๊ปอยู่บ่อยครั้ง

ศาสนาจักรในยุคของสมเด็จพระสันตะปาปาฟรานซิส ดูเหมือนจะมี Movement ต่อการสนับสนุนกลุ่มคนหลากหลายทางเพศเด่นชัดมากขึ้นกว่าอดีตอย่างมาก แม้จะเป็นการสนับสนุนสิทธิทางโลกเป็นหลัก แต่ถือเป็นการเปิดแง้มประตูแห่งความเป็นมิตรจากศาสนาคริสต์ต่อเพื่อนมนุษย์ที่ควรได้รับการรับรองสิทธิ

ภายใต้การแสดงออกซึ่งความรัก ความเป็นมิตร ความเห็นอกเห็นใจของประมุข อาจทำให้ฝ่ายอนุรักษ์นิยม ศาสนิกชนที่มีทัศนคติแง่ลบ หรือแม้แต่รัฐที่มีแนวโน้มต่อต้านกลุ่ม LGBTQ+ เปิดใจกว้างและยอมรับความแตกต่างมากขึ้น และเป็นจุดเริ่มต้นของการลดระดับความรุนแรง ความเกลียดชัง การละเมิดสิทธินำไปสู่การอยู่ร่วมกันอย่างสันติ และการยอมรับกลุ่ม LGBTQ+ มากขึ้น ๆ ในอนาคตต่อไป

ที่มา : mappalearning, voicetv, voathai, reuters, forbes, spectrumth

Popular Topics