ขยะเยอะพอกัน แต่จัดการต่างกัน! ในปี 2023 มีการผลิตขยะมากถึง 2 พันล้านตันทั่วโลก และถ้าหากยังไม่มีการจัดการที่ดีพออาจทำให้ขยะพุ่งขึ้นสูงถึงเกือบ 4 พันล้านตันในปี 2050 เลยทีเดียว แต่มาตรการในการกำจัดขยะกลับมีข้อจำกัดด้านงบประมาณและพื้นที่ จนทำให้หลายประเทศไม่สามารถจัดการกับขยะได้อย่างเหมาะสมและมีประสิทธิภาพ
.
การที่ไม่มีระบบจัดการที่เหมาะสมนี้เองส่งผลให้เกิดปัญหาโรคระบาด ปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมามากมาย ดังนั้นระบบการจัดขยะจึงมีความสำคัญเป็นอย่างมาก โดยมีการจัดอันดับประเทศที่มีระบบการจัดการขยะที่ดีผ่าน Environmental Performance Index (EPI)
.
ประเทศไหนบ้างที่มีระบบที่มีประสิทธิภาพและน่าสนใจ #Agenda สรุปมาให้แล้ว อ่านต่อได้ที่:
.
ญี่ปุ่น ประเทศที่เรียนรู้จากวิกฤต #EPI Rank 2
ญี่ปุ่นเคยประสบปัญหาด้านการจัดการขยะเนื่องจากการเติบโตของเศรษฐกิจและเมือง ทำให้เกิดปัญหาด้านมลพิษและปัญหาด้านสุขภาพของผู้คนตามมา รัฐบาลถึงขั้นประกาศสงครามขยะ (Waste War) วางระบบป้องกันมลภาวะอย่างจริงจัง สนับสนุนให้ครัวเรือน โรงงาน และสถานประกอบการลดปริมาณขยะที่ตนผลิต พร้อมจําแนกประเภทขยะเพื่อรีไซเคิล จนกลายเป็นประเทศที่สามารถจัดการขยะได้เป็นอย่างดีในปัจจุบัน
.
– ญี่ปุ่นเท่านั้นถึงทำได้
สิ่งที่หลายประเทศเห็นตรงกันและยกย่องไปทั่วโลกคือ ความมีระเบียบของคนญี่ปุ่น ที่มีการปลูกฝังจิตสำนึกตั้งแต่ในโรงเรียน เด็กนักเรียนญี่ปุ่นทุกคนได้เรียนรู้การคัดแยกขยะ ทำความสะอาดขยะ และทัศนคติว่า ขยะที่เกิดขึ้นหนึ่งชิ้นนั้นไม่ใช่แค่เรื่องส่วนตัวแต่เป็นเรื่องของส่วนรวม
.
ทัศนคตินี้ ทำให้ญี่ปุ่นสะอาดอยู่เสมอ เพราะคนทำความสะอาดบริเวณบ้านและรอบบ้านของตัวเอง รวมไปถึงรอบ ๆ ที่ทำงานในเวลาพักอีกด้วย และยังมีกลุ่มอาสาสมัครเก็บขยะในที่สาธารณะ แสดงให้เห็นว่าการปลูกฝังจิตสำนึกนั้นทำให้เกิดประสิทธิภาพอย่างแท้จริง
.
ความมีระเบียบของคนญี่ปุ่นยังแสดงให้เห็นในเรื่องการแยกและทิ้งขยะด้วย โดยขยะจะถูกแบ่งออกเป็น 4 ประเภท ได้แก่ “ขยะเผาได้” ให้ใส่ในถุงขยะที่กําหนด 2 ครั้งต่อสัปดาห์, “ขยะเผาไม่ได้” ให้ใส่ในถุงขยะที่มีข้อความระบุในถุงชัดเจนว่าขยะเผาไม่ได้ 1 ครั้งต่อเดือน, “ขยะขนาดใหญ่” จะมีกําหนดวันทิ้งโดยเฉพาะและต้องเสียค่าธรรมเนียมในการทิ้งในการไปรับ และ “ขยะที่สามารถนํากลับมาใช้ใหม่”
.
ในทุกเมืองมีกากำหนดมาตรการคัดแยกขยะ คู่มือ รวมไปถึงสถานที่ทิ้งขยะและป้ายสัญลักษณ์รายละเอียดในการทิ้งขยะให้ถูกต้อง
.
– กำจัดขยะสร้างประโยชน์
ประเทศญี่ปุ่น มีการจัดตั้งให้มีศูนย์เผาขยะในแต่ละเขต โดยขยะจะถูกนำเข้ากระบวนการเผาเพื่อให้กลายเป็นเถ้าถ่าน (NEWSand) นำไปถมทะเลเพื่อสร้างพื้นที่การอยู่อาศัยเพิ่มมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีการออกแบบโรงงานให้อยู่ท่ามกลางชุมชนได้ ผ่านมาตรการคัดกรองการปล่อยมลพิษและเสียงให้น้อยที่สุด และใช้พลังงานความร้อนที่เกิดจากการเผาขยะทำออนเซ็นให้ชุมชนอีกด้วย
.
ไต้หวัน จากเกาะแห่งขยะสู่ต้นแบบการจัดการ #EPI Rank 4
ไต้หวันคืออีกหนึ่งประเทศที่เคยประสบปัญหาขยะล้น เพราะการขยายตัวของเมือง เคยได้ชื่อว่าเป็น “เกาะแห่งขยะ” แต่การวางระบบการจัดการขยะมาตลอด 25 ปี ไต้หวันตอนนี้ได้ชื่อว่าเป็นอีกหนึ่งประเทศที่จัดการปัญหาขยะได้ดี
.
– เดินสายรถขยะทั่วเมือง
จากเดิมที่ทิ้งขยะตรงไหนก็ได้เหมือนอย่างที่ประเทศไทยเป็น ทิ้งตรงเสา ทิ้งข้างทาง รัฐบาลได้เปลี่ยนให้ทุกคนต้องนำขยะมาทิ้งที่รถขยะและใช้ถุงของรัฐบาลในการแยกขยะเท่านั้น โดยรถขยะของไต้หวันจะมาพร้อมเพลง Maiden’s Player หรือเพลง Fur Elise เพื่อเป็นการบอกประชาชนในละแวกนั้นให้เตรียมตัวนำขยะออกมาทิ้ง
.
ทำให้ประชาชนสามารถแยกขยะได้ด้วยตัวเอง หากไม่แน่ใจ ก็มีเจ้าหน้าที่ของรัฐที่มาพร้อมกับรถขยะ และคนในชุมชนที่มารวมตัวกันเพื่อทิ้งขยะให้คำปรึกษาและแนะนำ แนวทางนี้ยังเปิดโอกาสให้คนในชุมชนได้มารวมตัวและพูดคุยกันในเรื่องต่าง ๆ อีกด้วย
.
– ผุดนวัตกรรมช่วยกำจัดขยะ
รัฐบาลพัฒนาแอปพลิเคชัน Taiwan Garbage Service ให้ติดตามตําแหน่งรถขยะที่ใกล้ที่สุดในขณะนั้นได้ รวมทั้งมีเครื่องรีไซเคิล iTrash Booths เปิด 24 ชั่วโมง รองรับขยะได้ 200 กิโลกรัม สำหรับประชาชนที่พลาดการนำขยะมาทิ้งที่รถขยะแต่จะต้องจ่ายค่าปรับ แต่ถ้าหากขยะนั้นรีไซเคิลได้ จะสามารถเปลี่ยนเป็นเงินได้ ซึ่งนวัตกรรมนี้ตอบโจทย์การใช้ชีวิตของคนไต้หวันยุคใหม่ได้เป็นอย่างดี
.
เยอรมัน ผู้นำด้านนโยบายขยะของยุโรป #EPI Rank 7
เยอรมันนับว่าเป็นผู้นำด้านการจัดการขยะของยุโรปอย่างแท้จริง ทั้งบังคับนโยบายกลางได้อย่างมีประสิทธิภาพ และการออกแบบระบบจัดการขยะยังเป็นต้นแบบของหลายประเทศในยุโรปอีกด้วย
.
– นำขยะมาแลกเงิน
ทุกประเทศในยุโรปได้มีการนำนโยบาย Deposit Refund มาใช้ เพื่อกระตุ้นให้เกิดการรีไซเคิลที่มากขึ้น ซึ่งประเทศเยอรมันเองก็เป็นหนึ่งในประเทศที่ปรับใช้นโยบายนี้ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ
.
นโยบายนี้คือการคิดค่า Fee เพิ่มจากราคาน้ำดื่มขวด ซึ่งผู้ซื้อสามารถนำขวดดังกล่าวมาคืนยังร้านค้าเพื่อรับเงินคืนได้ ในขณะที่ขวดที่ไม่ใช้วัสดุที่รีไซเคิลได้ จะมีราคาสูงกว่าปกติ เพื่อกระตุ้นการรีไซเคิลและลดการใช้พลาสติกที่รีไซเคิลไม่ได้ ซึ่งเยอรมันมีอัตราการนำกลับมาคืนมากถึง 98% เลยทีเดียว
.
– เจ้าของขยะต้องรับผิดชอบ
นโยบาย polluter-pays คือ ผู้ผลิตต้องรับผิดชอบขยะที่มาจากสินค้าของตัวเอง ซึ่งเยอรมันเป็นประเทศแรกที่ออกมาตรการย้อนกลับไปยังผู้ผลิต ผู้ผลิตที่ร่วมมือจะมี Green Dot system ซึ่งเป็นเครื่องหมายที่ติดอยู่บนฉลากของสินค้า เป็นการสื่อสารไปยังผู้บริโภคว่า ผู้ผลิตสินค้านี้ รับผิดชอบค่าใช้จ่ายทั้งหมดในการกำจัดขยะ
.
นโยบายนี้กระตุ้นให้ผู้ผลิตออกแบบสินค้าที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ลดปริมาณขยะจากสายการผลิตให้มากที่สุด และผู้บริโภคยังสนับสนุนสินค้าที่มีเครื่องหมาย green dot มากกว่าสินค้าอื่น ๆ ด้วย
.
เดนมาร์ก EU ที่ผลิตเยอะ แต่กำจัดเยอะ #EPI Rank 9
เดนมาร์กคือประเทศที่มีการผลิตขยะเยอะมากกว่าที่ EU กำหนดเอาไว้ โดยผลิตขยะมากถึง 786 กิโลกรัมต่อคน ในขณะที่เกณฑ์อยู่ที่ 530 กิโลกรัมต่อคน แต่เดนมาร์กก็เป็นประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องระบบการกำจัดขยะที่ดีเช่นกัน
.
– ศูนย์กำจัดขยะชุมชน
จุดคัดกรองขยะให้ประชาชน ที่คัดแยกขยะถึง 50 ประเภทด้วยกัน โดยจะมีสัญลักษณ์และคำแนะนำในการแยกขยะแต่ละประเภทในรูปแบบที่เข้าใจง่ายเพื่อให้ประชาชนสามารถแยกขยะได้อย่างถูกต้อง รวมทั้งยังมีการคิดค่าธรรมเนียมการเข้ามาทิ้งขยะของบริษัทต่าง ๆ เพื่อกระตุ้นให้ลดการผลิตขยะ
.
ต่อจากนั้นขยะจะถูกคัดเลือก โดยขยะที่ยังมีสภาพดีและนำไปใช้ต่อได้จะถูกส่งไปขายยังร้านค้ามือสองเพื่อเพิ่มอัตราการใช้ซ้ำ โดยขายได้มากถึง 8,000 ตันต่อปีเลยทีเดียว ในขณะที่ขยะเศษอาหารถูกนำไปปั่นรวมกันเพื่อส่งต่อไปยังศูนย์ทำ biogas ต่อไป
.
– เปลี่ยนการรักษ์โลกให้สนุก
ศูนย์กำจัดขยะ Amager Bakke หรือที่รู้จักในชื่อ Amager Slope หรือ Copenhill มาพร้อมแนวคิด การรักษ์โลกไม่จำเป็นต้องเป็นเรื่องตีงเครียดเสมอไป โดยออกแบบโรงงานให้มีพื้นที่แนวลาดเอียงเพื่อให้ผู้คนเล่นสกีและเดินขึ้นทางลาดเอียงเหมือนการเดินขึ้นเขา นอกจากนี้ยังสามารถขึ้นรับชมวิวพระอาทิตย์ตกเหนือดาดฟ้าได้อีกด้วย เป็นการส่งต่อความคิดที่ว่า เราสามารถรักษ์โลกในขณะที่เราเองก็สามารถสนุกสนานกับมันได้เช่นกัน
.
.
เกาหลีใต้ มาตรการเข้มข้นที่ประสบความสำเร็จ #EPI Rank 13
เกาหลีใต้มีการพัฒนาการจัดการขยะอย่างก้าวกระโดด จนถูกยกให้เป็นหนึ่งในประเทศที่มีระบบจัดการขยะดีเป็นลำดับต้น ๆ ของโลก นำหน้าหลายประเทศในยุโรปและประเทศใกล้เคียง ซึ่งสิ่งที่ช่วยให้ประสบความสำเร็จ คือมาตรการที่เด็ดขาดและเข้มงวดนั่นเอง
.
– กำจัดขยะแต่ไม่ทิ้งชุมชน
ในตอนแรกเริ่มนั้นเกาหลีใต้ได้พยายามที่จะกำจัดขยะด้วยศูนย์เผาคล้ายกับประเทศอื่น ๆ แต่ถูกต่อต้านจากประชาชน เพราะเกรงเรื่องผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและชุมชน ดังนั้นจึงมีการออกแบบศูนย์กำจัดขยะให้เป็นพื้นที่ใช้ประโยชน์ของชุมชน เช่น ศูนย์กำจัดขยะ union tower ในเมืองฮานัมที่กลายเป็นแหล่งท่องเที่ยวและจุดกิจกรรมประจำเมือง มีคนมาเยี่ยมชมมากถึง 2 ล้านต่อปี
.
– แยกขยะสุดเข้มงวด
ประชาชนต้องคัดแยกขยะออกเป็น 3 ประเภทหลัก ขยะทั่วไป, ขยะเปียก และขยะรีไซเคิล โดยไม่ต้องเสียค่าธรรมเนียมในการเก็บขนและกําจัด แต่จะต้องซื้อถุงขยะตามเขตของตน และไม่สามารถนำถุงขยะของเขตอื่นมาใช้ได้ เพราะหน่วยงานท้องถิ่นจะได้รับค่าธรรมเนียมจากการขายถุงขยะ นอกจากนี้ที่จุดทิ้งขยะมีกล้องวงจรปิดติดไว้เพื่อสอดส่องและลงโทษผู้ทําผิดกฎอีกด้วย โดยมีโทษปรับสูงถึง 1 ล้านวอน หรือประมาณ 30,000 บาทเลยทีเดียว
.
อีกสิ่งหนึ่งที่โดดเด่นของเกาหลีใต้คือการกระตุ้นให้ลดขยะเศษอาหาร ในละแวกชุมชนมี smart bin เพียงแค่นำบัตรประชาชนของตนเองไปแตะเพื่อเริ่มระบบการทำงานถังขยะนี้ และจะมีการคิดค่าธรรมเนียมในการทิ้งขยะโดยอิงจากน้ำหนักของขยะผ่านบัตรประชาชน
.
ขยะเศษอาหารที่ถูกรวบรวมมาจากทั่วประเทศ จะถูกนำไปใช้เพื่อผลิตเป็นอาหารให้แก่ฟาร์มปศุสัตว์ ซึ่งถูกบรรจุในถุงที่เป็น biogradable ทำให้ไม่ต้องเสียเวลาในการแยกอีกครั้ง ระบบจัดการขยะเศษอาหารของเกาหลีใต้จึงถูกยกย่องเป็นแนวทางต้นแบบในหลาย ๆ ประเทศ
.
สิ่งหนึ่งที่ทุกประเทศเห็นตรงกันคือ ไม่มีแนวทางไหนที่ดีที่สุด รัฐต้องออกแบบนโยบายและมาตรการให้เข้ากับวัฒนธรรม วิถีชีวิตของผู้คนในประเทศนั้น ๆ ดังนั้นทุกประเทศจึงต้องหาแนวทางที่เหมาะสมและดีที่สุดให้กับตัวเองนั่นเอง ซึ่งในปัจจุบันประเทศไทยนั้นอยู่ในลำดับที่ 78 จาก 180 ประเทศทั่วโลก และลำดับที่ 17 ในภูมิภาคเอเชีย
.
ที่มา: Environmental Performance Index, OECD, EARTH.ORG, Der Grüne Punkt, European Environment Agency, State of Green, Sansad TV, Taiwan Ministry of Environment, Life Where I’m From, KST by The Korea Times, WIRED UK, Symsites, วิทยาลัยการปกครองท้องถิ่น มหาวิทยาลัยขอนแก่น