5s Economy โครงสร้างประชากรเปลี่ยน เศรษฐกิจแห่งอนาคตกำลังมา

Highlight

ถ้าคุณเคยโตมากับครอบครัวที่คนเต็มบ้าน พ่อออกไปทำงาน แม่อยู่บ้านทำกับข้าว สกู๊ปข่าวใหญ่เรื่องคนอายุเกินร้อยปี นักแสดงที่ไม่กล้าบอกใครว่าเป็นเพศทางเลือก

.

สิ่งเหล่านี้จะพบเห็นได้น้อยลง และจะเปลี่ยนไปอย่างมาก เพราะโครงสร้างประชากรที่กำลังปรับรูป เปลี่ยนร่างไปพร้อม ๆ กับเทคโนโลยีที่พัฒนาจนตามไม่ทัน กำลังส่งผลให้จำนวนประชากรแต่ละช่วงวัย ทัศนคติ วิถีการใช้ชีวิต หรือแม้แต่อายุขัยของเราทุกคนเปลี่ยนแปลงไป

.

5S Economy – 5 เทรนด์เศรษฐกิจใหม่ในอนาคตจะมีอะไรบ้าง?

#Agenda สรุปมาให้แล้ว

.

Sex Pluralism Economy

“เศรษฐกิจคนหลากเพศ”

.

สังคมโลกที่ยอมรับความหลากหลายทางเพศ และคำนิยาม “เพศ” ที่มีความหลากหลายและลื่นไหลมากขึ้นทุกวัน นำมาซึ่ง “เศรษฐกิจคนหลากเพศ” เพราะประเทศที่ให้ความเคารพต่อความหลากหลายนี้มีแนวโน้มที่จะดึงดูดให้ผู้คนไปทำงาน ท่องเที่ยว หรือลงทุนได้มากกว่านั่นเอง

.

“เศรษฐกิจคนหลากเพศ” ทำให้เกิดอะไร?

.

– กลุ่มคนหลากหลายทางเพศจะทำให้เกิด “ครัวเรือนไร้ลูกหลาน” ที่มีแนวโน้มในการใช้จ่ายมากกว่าครัวเรือนปกติ เพราะไม่ต้องเก็บเงินไว้ให้ลูกหลานของตัวเองในอนาคต

.

– ธุรกิจงานแต่งงานและธุรกิจอื่นที่เกี่ยวข้องเติบโต เพราะคู่รัก LGBTQIA+ สามารถแต่งงานและมีครอบครัวร่วมกันได้ตามกฎหมาย

.

– LGBT Tourism ที่สร้างมูลค่าสูง เพราะนักท่องเที่ยวกลุ่ม LGBTQIA+ มีจำนวนการท่องเที่ยวและค่าใช้จ่ายในการเดินทางแต่ละครั้งมากกว่านักท่องเที่ยวกลุ่มอื่น ๆ 

.

ตัวอย่างสินค้าตอบโจทย์

สินเชื่อสำหรับคู่รัก LGBTQIA+ ที่ออกมาเพื่อรองรับการขอสินเชื่อสำหรับคู่รักเพศทางเลือก โดยเฉพาะในประเทศที่ยังไม่สามารถจดทะเบียนสมรสเพศเดียวกันได้อย่างถูกกฎหมาย ทำให้คู่รักเพศเดียวกันสามารถกู้ซื้อที่อยู่อาศัยร่วมกันได้

.

ShEconomy

“เศรษฐกิจตัวแม่”

.

ยิ่งเวลาผ่านไป ผู้หญิงก็ยิ่งมีบทบาทในสังคมและธุรกิจมากขึ้น ช่องว่างระหว่างค่าแรงของหญิงและชายลดลง ความเหลื่อมล้ำทางเพศก็ยิ่งลดลง สัดส่วนจำนวนผู้หญิงที่เข้าสู่ระบบการศึกษาและระบบการทำงานมีจำนวนมากกว่าผู้ชาย ผู้หญิงจึงยิ่งมีรายได้มากขึ้น รายงานจากธนาคาร UBS ผู้ให้บริการทางการเงินระดับโลกแสดงให้เห็นว่า ในปัจจุบันสินทรัพย์กว่า 32% ของโลกถูกถือครองโดยผู้หญิง

.

บทบาทเพิ่ม รายได้เพิ่ม กำลังซื้อเพิ่ม จึงไม่น่าแปลกใจที่จะเกิดคลื่นเศรษฐกิจที่ขับเคลื่อนโดยผู้หญิง เพื่อตอบโจทย์ผู้หญิงโดยเฉพาะ

.

“เศรษฐกิจตัวแม่” ทำให้เกิดอะไร?

.

– รายได้และบทบาทผู้หญิงที่เพิ่มมากขึ้น ทำให้ผู้หญิงมีอำนาจในการใช้จ่ายจากทั้งรายได้ของตัวเอง และรายได้จากในครัวเรือน การศึกษาจาก The Economist Intelligence Unit คาดการณ์ว่า ผู้หญิงจะมีอำนาจใช้จ่ายถึง 1.8 ล้านล้านบาทในปี 2030

.

– สินค้าหรือแคมเปญที่คำนึงถึงผู้หญิงมากขึ้น เช่น ธุรกิจกลุ่ม Femtech 

.

– ธุรกิจด้านความงามเติบโตมากขึ้น ตลาดเครื่องสำอาง เครื่องประดับ และธุรกิจเสริมสวย เติบโตมากขึ้นและมีแนวโน้มที่จะเพิ่มขึ้นสูงเรื่อย ๆ 

.

ตัวอย่างสินค้าตอบโจทย์

WC+ นวัตกรรมห้องน้ำพกพาสำหรับผู้หญิง คือตัวอย่างสินค้าที่พัฒนามาโดยคำนึงถึงการใช้ชีวิตของกลุ่มผู้หญิงอย่างแท้จริง ทั้งสะดวกในการพกพา และหยุดปัญหาด้านสุขภาพจากการอั้นปัสสาวะ

.

Solo Economy

“เศรษฐกิจคนโดดเดี่ยว”

.

ข้อมูลจาก Euromonitor พบว่าในปี 2021 ผู้คนเลือกใช้ชีวิตคนเดียวมากขึ้น เพราะคนสมัยใหม่ต้องการอิสรภาพในการใช้ชีวิต ประกอบกับวิกฤติโควิด-19 ยิ่งเป็นสิ่งกระตุ้นให้คนยุคใหม่ที่ต้องกักตัวอยู่กับครอบครัวเป็นระยะเวลานานต้องการออกมาใช้ชีวิตคนเดียวมากกว่าเดิม ดังนั้นจากหนึ่งครัวเรือนมีคนหลายรุ่น จึงกลายเป็นการแยกกันอยู่ 

.

นอกจากนี้คนสมัยใหม่ยังมุ่งมั่นที่การทำงาน การวางรากฐานให้แก่ชีวิตตัวเองมากกว่าเรื่องอื่น ๆ ทำให้อัตราการแต่งงานลดลง และการหย่าร้างเพิ่มขึ้น เป็นที่มาของ “เศรษฐกิจคนโดดเดี่ยว” ในปัจจุบัน

.

“เศรษฐกิจคนโดดเดี่ยว” ทำให้เกิดอะไร?

.

– ธุรกิจสัตว์เลี้ยงเติบโต เพราะคนหันมาเลี้ยงสัตว์เป็นเพื่อนมากขึ้นและให้ความใส่ใจเหมือนคนในครอบครัวตนเองและเลือกผลิตภัณฑ์ที่ดีให้แก่สัตว์เลี้ยงของตน 

.

– ธุรกิจร้านอาหารและบริการปรับมารับลูกค้าเดี่ยวมากขึ้น จากที่เคยรองรับการทานอาหารแบบกลุ่ม ร้านอาหารเริ่มมีการจัดสรรพื้นที่สำหรับรับประทานอาหารคนเดียวมากขึ้น เช่น สุกี้สายพาน เป็นต้น

.

– บ้านและคอนโดถูกออกแบบสำหรับการอยู่คนเดียวมากข้ึน แนวคิดการออกแบบที่อยู่อาศัยแบบ “One Size doesn’t Fit All” ที่ออกแบบให้ที่พักมีขนาดเล็ก แต่สามารถจัดสรรพื้นที่ได้อย่างสะดวกจึงได้รับความนิยมมากขึ้น

.

ตัวอย่างสินค้าตอบโจทย์

สินค้าไซส์มินิ Multi-Function เช่น Mini Microwave หรือ Mini Fridge คือสินค้าที่ออกแบบมาสำหรับสังคมการอยู่คนเดียว เนื่องจากราคาไม่สูงและเพียงพอสำหรับการใช้คนเดียว

.

Skill Gap Economy

“เศรษฐกิจคน(ต้อง)เก่ง”

.

หมดยุคเรียนมาไม่ได้ใช้ เพราะส่วนใหญ่เรียนทันใช้ ช่องว่างทักษะ (Skill Gap) เกิดจากความแตกต่างระหว่างความคาดหวังของนายจ้างกับทักษะที่พนักงานมี และมันจะกว้างขึ้นเรื่อย ๆ จากเทคโนโลยีที่พัฒนาแบบติดจรวด เครื่องจักรไม่ได้แค่แทนที่ทักษะเดิม ๆ ที่ใช้แรงงาน แต่ยังแทนที่ไปถึงทักษะที่ใช้แรงสมองด้วย

.

World Economic Forum คาดการณ์ว่า ตำแหน่งงานเดิม ๆ ที่เรารู้จักจะหายไป 83 ล้านตำแหน่ง ในขณะที่มีตำแหน่งงานเกิดใหม่ 69 ล้านตำแหน่ง และส่วนใหญ่เป็นตำแหน่งงานที่ไม่เคยมีมาก่อน เพราะใช้ทักษะที่เกิดใหม่ตามความก้าวหน้าของเทคโนโลยี

.

ช่องว่างนี้ทำให้แรงงานอย่างเรา ๆ ต้อง Upskill เดิมที่มีให้ดียิ่งขึ้น หรือบางสายอาชีพ อาจจะต้อง Reskill ตัวเอง หาเส้นทางใหม่เลยก็ได้เช่นกัน คนทำงาน องค์กร และวงการการศึกษาจึงเป็นส่วนสำคัญในการขับเคลื่อน “เศรษฐกิจคน(ต้อง)เก่ง”

.

“เศรษฐกิจคน(ต้อง)เก่ง” ทำให้เกิดอะไร?

.

– Google สรุปผลวิเคราะห์เรื่องช่องว่างทักษะนี้เอาไว้ว่า ในอนาคต แรงงานในภูมิภาคเอเชียแปซิฟิค 85 ล้านคน ต้อง Reskill และ UpSkill เพื่อให้เท่าทันกับตำแหน่งงานที่ต้องการทักษะที่เปลี่ยนไป

.

– คอร์ส Upskill เฉพาะด้าน เติมความรู้เฉพาะส่วน เรียนระยะสั้น จะสำคัญกว่ามหาวิทยาลัยแบบเดิม ๆ ที่เน้นเรียนนาน เรียนเยอะ เพราะไม่เท่าทันความเปลี่ยนแปลงอีกต่อไป

.

– Skill ที่เป็นที่ต้องการสูง เช่น AI ,Cyber Secruity และทักษะที่เกี่ยวข้องกับเทคโนโลยีต่าง ๆ

.

ตัวอย่างบริการตอบโจทย์

สตาร์ทอัพด้านการศึกษา สอนทักษะเฉพาะด้านต่าง ๆ ที่ออกแบบให้สามารถเรียนได้หลากหลาย ทุกที่ ทุกเวลา เช่น Coursera, Skillane, Globish และอีกมากมาย

.

Super 120 Economy

“เศรษฐกิจอายุยืนยาว”

.

การพัฒนาทางเทคโนโลยีการแพทย์ ทำให้ควบคุมโรคติดต่อ ป้องกันโรคระบาด และรักษาโรคต่าง ๆ ได้มากขึ้น ประกอบกับความเข้าใจ และพฤติกรรมการใช้ชีวิตของผู้คนที่คำนึงถึงสุขภาพของตนเองมากกว่ายุคก่อน อายุเฉลี่ยของคนจึงจะสูงขึ้นเรื่อย ๆ และอาจสูงได้ถึง 120 ปี ซึ่งจะทำให้เกิด “เศรษฐกิจอายุยืนยาว” ขึ้นได้ในอนาคต

.                      

“เศรษฐกิจอายุยืนยาว” ทำให้เกิดอะไร?

.

– การลงทุนในธุรกิจสุขภาพเพื่อคนสูงวัย ทั้งนวัตกรรมการแพทย์และบริการจะมีมากขึ้นในอนาคต

.

– ระยะเวลาการศึกษาและทำงานยาวนานขึ้น เพราะคนมีชีวิตที่ยาวนานมากกว่าเดิม ทำให้คนเพิ่มทักษะและเรียนรู้ยาวนานขึ้น รวมทั้งเมื่อมีอายุยืนยาวขึ้นคนก็จะไม่หยุดทำงานที่อายุ 60 ปีเท่านั้นระยะเวลาการทำงานจึงยาวนานขึ้นด้วย

.

– ที่อยู่อาศัย/เมืองที่เป็นมิตรต่อคนสูงวัย เช่น เมืองที่มีทางเดินที่สะดวกต่อคนทุกวัย พื้นที่สาธารณะที่ตอบโจทย์ต่อทุกคน บ้านที่ถูกออกแบบเพื่อให้คนสูงวัยใช้ชีวิตได้สะดวกมากยิ่งขึ้น ฯลฯ 

ตัวอย่างสินค้าตอบโจทย์

อุปกรณ์เพื่อความปลอดภัยแบบ Universal Design ที่ออกแบบมาเพื่อให้คน ทุกเพศ ทุกวัย สามารถใช้ชีวิตได้อย่างสะดวกมากยิ่งขึ้น เช่น ห้องน้ำสำหรับผู้สูงอายุ เป็นต้น

.

ที่มา: Creativethailand, World Economic Forum, PWC, Mckinsey, Krungthai COMPASS, MGRonline, Bangkokbiznew, Mogen, Salika, Collectivecampus, Thailandplus, Marketingoops

Popular Topics