อยากจ่ายภาษีแล้วได้แบบนี้บ้าง!
ญี่ปุ่นส่งของดีในท้องถิ่นทั่วประเทศถึงบ้านคนจ่ายภาษี มีให้เลือกทั้ง เนื้อมัตสึซากะ ไข่ปลาแซลมอน ชีส ปูยักษ์มัตสึบะ หอยโฮตาเตะ ฯลฯ
นโยบายภาษีบ้านเกิดนี้ คือหนึ่งในวิธีการกระจายโครงสร้างอำนาจในการบริหาร และอำนาจการคลัง จนช่วยให้ญี่ปุ่นประสบความสำเร็จในการกระจายความเจริญไปทั่วประเทศ
เป้าหมายคือลดเมืองหลวงแออัด ต่างจังหวัดและท้องถิ่นเจริญ ผู้คนมีอาชีพ มีรายได้พอเพียงที่จะเลี้ยงดูตนเองและครอบครัว
จะเป็นแบบนี้ได้ไม่ใช่เรื่องบังเอิญ แต่อยู่ที่การบริหารจัดการ
ญี่ปุ่นทำได้อย่างไร #AGENDA สรุปมาให้อ่านกันแล้วค่ะ
ท้องถิ่นบริหารตัวเอง
ญี่ปุ่นริเริ่มแนวคิดการปกครองตนเองของท้องถิ่นไว้ตั้งแต่สมัยหลังสงครามโลกครั้งที่ 2 ตามหลักการที่บัญญัติไว้ในรัฐธรรมนูญ ทั้งการให้ความสำคัญกับคุณภาพชีวิตประชาชน กฎหมายภาษีท้องถิ่นกับโครงสร้างการปกครอง ทำให้ระบบภาษีมีประสิทธิภาพมากขึ้น เพราะการบริหารจัดการไม่ทับซ้อนกัน
พูดให้เห็นภาพง่าย ๆ ก็คือ
การปกครองระดับจังหวัด มีหน้าที่ดูแล แนะนำเทศบาล ช่วยประสานงานกับรัฐบาลกลาง
ส่วนเทศบาล มีหน้าที่ให้บริการสาธารณะโดยตรงแก่ประชาชน
จำนวนเทศบาลก็จะมีมากกว่าจังหวัดมาก เพื่อที่จะให้บริการประชาชนได้ทั่วถึง
แต่การบริหารจัดการให้ไปรอด ต้องใช้ปัจจัยสำคัญก็คือเงิน
ระบบการคลังจึงเป็นอีกอย่างหนึ่งที่ทำให้ญี่ปุ่นกระจายความเจริญได้สำเร็จ
ระบบการคลังท้องถิ่น
แต่เดิม การคลังท้องถิ่นญี่ปุ่นก็มีโครงสร้างแบบไทย คือพึ่งพารายได้จากภาษีที่รัฐบาลกลางจัดสรรให้เป็นหลัก
แต่หลังจากการปฏิรูปภาษี ท้องถิ่นญี่ปุ่นก็ปรับเปลี่ยนมาเน้นพึ่งพารายได้จากภาษีท้องถิ่นของตัวเองมากขึ้น
ในปี 2016 การจัดเก็บภาษีของญี่ปุ่นแบ่งตามระดับการปกครองนั้น
ได้จากท้องถิ่นจัดเก็บเองเป็นสัดส่วนกว่า 40% จากงบประมาณทั้งประเทศ
รายรับองค์กรปกครองส่วนท้องถิ่นของจังหวัดและเทศบาลส่วนใหญ่จะมาจากภาษีที่ท้องถิ่นจัดเก็บเองเป็นหลัก
เช่น ภาษีเพื่อการอยู่อาศัย ภาษีจากการประกอบธุรกิจ และภาษีท้องถิ่นจากการบริโภค ภาษีน้ำมัน ภาษีผังเมือง ภาษีบุหรี่ เป็นต้น รองลงมาเป็นเงินรายรับอื่นๆ เช่น ค่าธรรมเนียมและเงินบริจาค เป็นต้น ภาษีที่รัฐบาลจัดเก็บและจัดสรรให้แก่ท้องถิ่น
นอกจากนี้ ญี่ปุ่นยังมีพันธบัตรท้องถิ่นอีกด้วย เพื่อเสนอขายให้แก่ประชาชนและระดมทุนมาใช้จ่าย
ในขณะที่รัฐบาลกลางมีแหล่งภาษีซึ่งจัดเก็บได้จากภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา ภาษีเงินได้นิติบุคคล และภาษีมูลค่าเพิ่มเป็นหลัก
อีกอย่างที่วัดการกระจายรายได้และทรัพยากรไปยังท้องถิ่นได้ดี ก็คือ ‘รายจ่าย’
ตัวเลขรายจ่ายสาธารณะของญี่ปุ่นในปี 2014 พบว่าเป็นภาระของท้องถิ่นสูงกว่า 70% ในขณะที่รัฐบาลกลางมีสัดส่วนเพียง 30% โดยค่าใช้จ่ายที่รัฐบาลกลางรับผิดชอบเต็ม ๆ มีแค่เงินบำเหน็ดบำนาญ และค่าใช้จ่ายทางทหารเท่านั้น
นอกจากระบบการจัดสรรอำนาจหน้าที่ให้ท้องถิ่นที่ดีแล้ว
ญี่ปุ่นยังเอาระบบภาษีบ้านเกิด มาเพิ่มการแข่งขันสร้างสรรค์คุณภาพระหว่างท้องถิ่นด้วย
และทั้งหมดนี้ สิ่งสำคัญของการกระจายอำนาจคลัง และความมั่นคงของระบบประชาธิปไตย ก็คือความโปร่งใสของญี่ปุ่น ที่ประชาชนสามารถตรวจสอบภาษี / รายจ่าย อย่างเจาะจงได้ทุกระดับ
นโยบาย ‘ภาษีบ้านเกิด’ หรือ ‘ฟุรุซาโตะโนเซ’ (Furusato nozei : ふるさと納税)
เพราะสินค้าท้องถิ่นของญี่ปุ่นนั้นมีเอกลักษณ์ และเป็นสิ่งที่ดึงดูดทั้งนักท่องเที่ยวต่างชาติและคนญี่ปุ่นได้เป็นอย่างดี นโยบาย ‘ภาษีบ้านเกิด’ ของรัฐบาลญี่ปุ่น จึงเป็นระบบที่ได้รับการพูดถึงอย่างมาก
หลักการง่ายๆ ของนโยบายนี้ก็คือ ประชาชนสามารถเลือกท้องถิ่นและจำนวนเงินที่อยากบริจาคให้แก่ท้องถิ่นนั้น ๆ โดยมีสิ่งตอบแทนคือ นำยอดที่บริจาคไปลดหย่อนภาษีได้ และท้องถิ่นที่ได้รับเงินบริจาค ก็จะส่งของดีของดังประจำเมืองมาให้เป็นของตอบแทน ขึ้นอยู่กับจำนวนเงินที่บริจาค
นอกจากจะทำให้ผู้จ่ายภาษีอย่างคนญี่ปุ่นสนุกและเต็มใจกับจ่ายภาษีมากขึ้น
ยังทำให้ท้องถิ่นแข่งกันพัฒนาของดีประจำจังหวัดของตนเพื่อจูงใจคนด้วย
ผลของนโยบายนี้ ทำให้
– จังหวัดโทจิงิ ได้เงินเพิ่มขึ้น 7 เท่าตัวในปี 2014 เพราะคนอยากกินสตรอว์เบอร์รี่ชื่อดังของท้องถิ่น
– เมืองฮิราโดะ จังหวัดนางาซากิ ได้เงินสูงถึง 1 พันล้านเยน ในปี 2014
ตัวอย่างของตอบแทนสุดคุ้มที่จะได้
– โชยุ คิเซคิโนะฮิชิโอะ จากจังหวัดมิยากิ ที่บนแพคเกจเล่าเรื่องราวเก่ียวกับเชื้อจุลินทรีย์หมักโชยุที่เกือบถูกพัดหายไปในสึนามิ
– แต่งเพลงประจำตัวให้
– ปูยักษ์มัตสึบะ จากทตโตริ
– ลูกพีช 2 กิโล จากวากายามะ
– ไข่ปลาแซลมอน 500 g จากฮอกไกโด
นอกจากนี้ยังมีระบบ Subscribe ในบางท้องถิ่นด้วย ถ้าจ่ายเยอะขึ้น จะได้รับวัตถุดิบสด ๆ ส่งตรงถึงบ้าน 4 เดือน เป็นต้น
แต่นโยบายนี้ ก็ยังมีปัญหาอยู่บ้าง เพราะของขวัญแลกเปลี่ยนยอดนิยม มักจะเป็นสินค้าราคาแพง บางท้องถิ่นเอา ipad มาแจก เพื่อดึงให้คนบริจาคเยอะ ๆ ทำให้เกิดเสียงวิจารณ์ว่าไม่เหมาะสมเพราะ ipad ไม่ใช่สินค้าท้องถิ่น เลยมีการออกกฏให้เข้มงวดขึ้น
หรือตอบแทนจากท้องถิ่นบางอย่างที่ดีมาก ๆ คนที่ได้ไปก็นำมาปล่อยขายต่อในราคาแพง หรือเปิดประมูลให้คนแย่งกันประมูลของ ทำให้หลายท้องถิ่นถูกเรียกร้องให้หามาตรการป้องกันเรื่องเหล่านี้
มองประเทศไทย
สำหรับประเทศไทย ภาษีส่วนใหญ่ที่ท้องถิ่นจัดเก็บได้ เช่น ภาษีมูลค่าเพิ่ม ภาษีรายได้ธุรกิจ ภาษีรายได้ส่วนบุคคล จะต้องส่งให้ส่วนกลาง และรอส่วนกลางแบ่งปันงบประมาณกลับมา มีภาษีที่เป็นรายได้ทางตรงแก่ท้องถิ่นไม่กี่อย่าง เช่น ภาษีป้าย เป็นต้น
คงจะดีไม่น้อย ถ้าต่างจังหวัดของไทยมีการกระจายเศรษฐกิจและความเจริญให้มากขึ้นบ้าง ลดการกระจุกตัวและความแออัดในเมืองหลวงลง เพื่อให้คนรุ่นใหม่ได้กลับไปพัฒนาและใช้ชีวิตที่บ้านเกิดได้อย่างมีกินมีใช้ แทนที่ต้องมุ่งมาแสวงหาโอกาสและรายได้จากเมืองหลวงเพียงอย่างเดียว
ที่มา:
– ยศธร ทวีพล, สมศักดิ์ อมรสิริพงศ์, รัฐศิรินทร์ วังกานนท์ และ นภเรณู สัจจรักษ์ ธีระฐิติ.
คณะสังคมศาสตร์และมนุษยศาสตร์ มหาวิทยาลัยมหิดล. บทความวิชาการ ระบบการคลังท้องถิ่นญี่ปุ่น: บทเรียนจากประเทศพัฒนาแล้ว
– http://gaijininjapan.blog/furusato-nozei/
– https://matcha-jp.com/th/4482