หน้าตาห้องสมุดแต่ละประเทศ ใครให้ความสำคัญกับ ‘ห้องสมุด’ มากแค่ไหน?

Highlight

ห้องสมุดสำหรับคุณคืออะไร?

ที่เงียบสงัดไว้เข้าไปทำการบ้าน ค้นคว้างาน

ที่เก็บหนังสือมากมายดูน่าเกรงขาม

หรือที่ ๆ อยากจะไป แต่นึกแทบไม่ออกว่าอยู่ตรงไหนของเมืองบ้าง 

เป็นแบบนี้เพราะคนไทยไม่ชอบอ่านหนังสือจริงรึเปล่า?

แต่แล้วทำไมงานหนังสือถึงมีคนเดินหนาแน่นทุกปีเลยนะ

ถ้าเราสามารถเข้าถึงหนังสือมากมายได้ฟรี ใกล้บ้าน หรือเดินทางสะดวกล่ะ

ถ้าที่ห้องสมุดมีที่นั่งมากมาย พร้อมไวไฟฟรีล่ะ

ถ้าที่ห้องสมุดมีน้องหมามานั่งอ่านหนังสือเป็นเพื่อน

มีห้องประชุม ห้องทำงานค้นคว้ากับเพื่อน ๆ

ฯลฯ

คุณจะอยากแวะไปห้องสมุดมากขึ้นไหม?

#Agenda พาคุณมาสำรวจอีกแง่มุมของ ‘ห้องสมุด’ 

ผ่านนโยบายของเมือง/ประเทศต่าง ๆ ทั้งในไทย และต่างประเทศ

ว่าหน้าตาห้องสมุดแต่ละประเทศเป็นอย่างไร

และมาดูกันว่า ใครให้ความสำคัญกับ ‘ห้องสมุด’ มากแค่ไหน?


ไทย – กรุงเทพฯ

ตั้งเป้าเป็น “มหานครแห่งการเรียนรู้” (เริ่มในปี 2556)

📚 ห้องสมุดที่อยู่ในการดูแลของกรุงเทพมหานครมีประมาณ 36 แห่ง* ต่อประชากร 5 ล้านคน

📚 ความเพียงพอ?

ในกรุงเทพมีห้องสมุดที่ทางกทม. ดูแลอยู่ประมาณ 36 แห่ง แต่ 36 แห่งนี้อยู่ใน 29 เขต (ไม่ได้มีทุกเขต) สำหรับประชากรจำนวน 5 ล้านคน โดยมีงบประมาณในการบริหารจัดการอยู่ประมาณ 200 ล้านบาทต่อปี

ที่น่าสนใจคือความเอื้อในการเดินทางในกทม. ไปยังที่ต่าง ๆ รวมถึงห้องสมุด ยังมีปัญหาเชิงขนส่งสาธารณะและผังเมือง เช่น ค่ารถไฟฟ้าแพง รถเมล์มาช้า ฯลฯ หรือถ้าใช้รถส่วนตัว ห้องสมุดส่วนใหญ่ก็ไม่ได้มีที่จอดรถรองรับมากนัก อาจจะทำให้คนถอดใจที่จะไปห้องสมุดเสียก่อน

📚 สำหรับห้องสมุดเคลื่อนที่ของทางกทม.ก็มีเช่นกัน โดยมีให้บริการประมาณ 5 คัน ไปตามงานสำคัญ/โรงเรียน ที่ขอเข้ามา


เฮลซิงกิ  – ฟินแลนด์

 “เมื่อยืนอยู่บนระเบียงของห้องสมุด จะสามารถมองเห็นรัฐสภาอยู่ในระดับเดียวกัน”

คำกล่าวของ Nasima Razmya รองนายกเทศมนตรีด้านวัฒนธรรมของเฮลซิงกิ  – ฟินแลนด์ 

📚 มีห้องสมุดในเมือง 36 แห่ง ต่อประชากร 1.3 ล้านคน

ฟินแลนด์ขึ้นชื่อเรื่องการให้ความสำคัญต่อ ‘นิสัยรักการอ่าน’ 

โดยมีรัฐบาลผลักดัน สนับสนุนอย่างจริงจรัง ผ่านกฎหมายห้องสมุด โดยมี พ.ร.บ.ห้องสมุดสาธารณะตั้งแต่ทศวรรษที่ 20 มีใจความคือ ห้องสมุดต้องเป็นสิ่งที่ทุกคนเข้าถึงได้

📚 สำหรับเมืองหลวงอย่างเฮลซิงกิ ในโอกาสครบรอบ 100 ปีที่ฟินแลนด์ประกาศอิสรภาพ

รัฐบาลได้ตั้งโครงการมอบห้องสมุดกลางเฮลซิงกิเป็น ‘ของขวัญ’ ให้ประชาชน ชื่อว่า ‘ห้องสมุดโอดิ’ 

ห้องสมุดนี้มีทุนสร้างเกือบ 3 พันล้านบาท โดยสร้างบนพื้นที่ตรงข้ามรัฐสภา

ชนิดที่ว่า “เมื่อยืนอยู่บนระเบียงของห้องสมุดจะสามารถมองเห็นรัฐสภาอยู่ในระดับเดียวกัน”

ฟินแลนด์ยังให้งบห้องสมุดสูงถึงปีละ 12,000 ล้านบาท ในการจัดซื้อหนังสือใหม่และบริหารจัดการบริการต่าง ๆ ให้ประชาชนฟรี ไม่ว่าจะเป็น

– ห้องสมุดเคลื่อนที่ ที่ไม่ว่าจะมีคนอาศัยอยู่ที่ไหนก็จะจัดห้องสมุดไปให้ ทั้งในน้ำ หรือในป่า

– เพราะเน้นออกแบบห้องสมุดให้เป็นพื้นที่สำหรับใช้ชีวิต

ในห้องสมุด จึงไม่ได้มีแค่หนังสือ แต่มีกิจกรรมให้ทำมากมาย เช่น เวิร์กชอป ศิลปะ การแสดง และยังมีการฝึกสุนัขมานั่งฟังเด็ก ๆ อ่านหนังสือ จะได้ไม่เหงาอีกด้วย

น่าคงตอบคำถามได้อย่างดีว่าฟินแลนด์ให้ความสำคัญกับ ‘ห้องสมุด’ มากแค่ไหน? สามารถอ่านที่ #Agenda สรุปไว้เพิ่มเติมได้ที่นี่ค่ะ

📚 ผลลัพธ์ก็คือในหนึ่งปี…

คนฟินแลนด์ 1 คนยืมหนังสือห้องสมุดประมาณ 12 เล่ม

สถิติยืมคืนหนังสือรวมกว่า 4 ล้านครั้ง

มีการตีพิมพ์หนังสือใหม่กว่า 10,000 เล่ม

ถึงแม้จะมีหนังสือฟรีให้เข้าถึงขนาดนี้ คนฟินแลนด์ก็ยังจ่ายเงินซื้อหนังสือปีละกว่า 11,000 บาท


ไต้หวัน – เกาสง

“ แดนสวรรค์ของนักอ่าน ”

📚 ปัจจุบัน มีห้องสมุด 60 แห่ง ต่อประชากร 1.5 ล้านคน

📚 นโยบายสนับสนุนของห้องสมุดเมืองเกาสง เป็นการเริ่มใช้กลยุทธ์บริการแบบใหม่ๆมากมาย ทำให้สถิติการใช้ห้องสมุดเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง

  • ‘1 เขต 1 ห้องสมุด’ จากเดิมในเมืองเกาสงมีห้องสมุดแค่ 17 แห่ง หลังจากนโยบายที่ใช้งบประมาณกว่า 260 ล้านเหรียญไต้หวัน ห้องสมุดในเมืองเกาสงก็เพิ่มขึ้นเป็น 60 แห่ง
  • ‘กล่องแห่งการอ่าน’ หนึ่งในบริการที่น่าสนใจของห้องสมุดประชาชนเกาสง โดยนำเรื่องราวพื้นถิ่นทำเป็นหนังสือสำหรับเด็กแรกเกิด ด้วยแนวคิด ‘หนังสือเล่มแรก’ แล้วใส่กล่องแจกให้ครอบครัวละ 1 เล่ม พร้อมซีดี 5 ภาษา : จีนกลาง, จีนไต้หวัน, จีนแคะ, เวียดนาม และภาษาพื้นถิ่น เป็นการสนับสนุนให้ครอบครัวอ่านหนังสือให้ลูกฟังตั้งแต่ยังเด็ก
  • ‘ยืม E-Books ฟรี 60 เล่มต่อปี’ บริการที่นักอ่านแฮปปี้ โดยห้องสมุดจะจ่ายเงินส่วนนี้ให้กับผู้จำหน่ายเอง ด้วยความเชื่อที่ว่า ยิ่งมีคนอ่านมากขึ้น ก็ยิ่งทำให้ทั้งสำนักพิมพ์และนักเขียนได้ประโยชน์มากขึ้น

📚 การเข้าถึงห้องสมุด

แม้ว่าเมืองเกาสงจะมีห้องสมุดหลายแห่ง แต่ก็ไม่ได้แปลว่าทุกคนจะอยากไปห้องสมุด จึงเกิด ‘ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ’

แค่จองหนังสือผ่านออนไลน์ ไม่ว่าหนังสือเล่มนั้น จะอยู่ที่สาขาไหนของเมือง ห้องสมุดก็จะส่งไปยัง ‘ตู้ยืมหนังสืออัตโนมัติ’ ในสถานีรถไฟฟ้าที่ระบุไว้ แค่ใช้บัตรรถไฟฟ้าแตะที่ตู้ ก็จะมีแขนกลหยิบหนังสือที่จองไว้ออกมาให้ ซึ่งเป็นบริการที่รวดเร็ว ไม่มีค่าใช้จ่าย สร้างความประทับใจให้ผู้คนเป็นอย่างมาก

ด้วยการสนับสนุนที่หลากหลายทำให้ห้องสมุดประชาชนเกาสงกลายเป็น ‘โมเดลต้นแบบ’ ให้กับเมืองอื่นๆ อีกทั้งยังส่งผลทางอ้อมให้อุตสาหกรรมสิ่งพิมพ์กลับมาเฟื่องฟู เพราะการอ่านหนังสือกลายเป็นงานอดิเรกของทุกคนไปเสียแล้ว


เยอรมนี

“ พื้นที่การเรียนรู้อย่างสร้างสรรค์ ”

วัฒนธรรมการอ่านของคนเยอรมันถูกปลูกฝังจากครอบครัวผ่านการ ‘อ่านหนังสือร่วมกัน’ ดังนั้นการมีอยู่ของห้องสมุดช่วยลดช่องว่างความเหลื่อมล้ำของการเข้าถึงความรู้ ‘คนไร้บ้าน คนที่ยังไม่มีงานทำ ผู้อพยพ ลดหย่อนค่าสมัครสมาชิกได้’

📚 ปัจจุบัน มีห้องสมุด 4,719 แห่ง ต่อประชากร 83 ล้านคน 

📚 นโยบายสนับสนุนห้องสมุดในเยอรมนีแตกต่างกันไปในแต่ละเมือง โดยจะอยู่ในความดูแลขององค์กรปกครองท้องถิ่น ทำให้ดำเนินงานได้อิสระ ปรับให้สอดคล้องในแต่ละชุมชนได้

ห้องสมุดกลางชเลสวิก-โฮลชไตน์ ได้พัฒนา ‘เกมสมมุติ’ ให้เยาวชนฝึกแยกแยะข่าวปลอมจากอินเทอร์เน็ต ในขณะที่ห้องสมุดเมืองมิวนิก มองว่า ความเป็นจริงผู้ใหญ่มีทักษะทางเทคโนโลยีน้อยกว่า จึงมีเริ่มกิจกรรมอบรมให้กับกลุ่มผู้ปกครอง

คลิงมูห์ล หมู่บ้านในแคว้นเอลเบอ-เอลชเตอร์ เข้าถึงห้องสมุดยากเพราะตั้งอยู่ห่างจากชุมชน จนในที่สุดนำไปสู่การให้บริการ ‘รถห้องสมุดเคลื่อนที่’ เส้นทางและเวลาเดินรถกำหนดไว้ตายตัว แม้การคมนาคมจะสะดวกขึ้น แต่ห้องสมุดเคลื่อนที่ก็ยังเป็นที่นิยมเพราะอำนวยความสะดวกในการเข้าถึงหนังสือ สั่งจองหนังสือผ่านอินเตอร์เน็ต จากนั้นก็รอรถห้องสมุดนำหนังสือไปส่งตามวันเวลาที่กำหนด

📚 สื่อทันสมัย ใช้ฟรี เพื่อสร้างพื้นที่แห่งความสร้างสรรค์ ‘Open Creative Space’ ให้เข้ากับการเรียนรู้ในศตวรรษที่ 21

ห้องสมุดกลางแห่งเมืองโคโลญ เต็มไปด้วยเครื่องมือการเรียนรู้ที่ทันสมัย เช่น เครื่องสแกนสามมิติ, ไอแพด, กีตาร์, อุปกรณ์ซอฟต์แวร์ดนตรี, แว่นตาเสมือนจริง, เปียโน แม้กระทั่งจักรเย็บผ้า ผู้ใช้บริการสามารถอัดรายการพอดแคสต์และสื่อดิจิทัล โดยไม่มีค่าใช้จ่าย จนได้รับการโหวตให้เป็นสุดยอดห้องสมุดเยอรมันแห่งปี 2015


สิงคโปร์

“พื้นที่น้อย แต่จัดสรรอย่างชาญฉลาด”

📚 27 แห่ง ต่อประชากร 5.9 ล้านคน

📚 สิงคโปร์มีพื้นที่น้อย สร้างห้องสมุดได้ไม่มาก National Library Board (NLB) หรือคณะกรรมการห้องสมุดแห่งชาติของสิงคโปร์จึงมุ่งเน้นในการสร้างพื้นที่สำหรับอ่าน และนำเอาเทคโนโลยีเข้ามาช่วยในการจัดการให้ผู้คนเข้าถึงหนังสือ หรือสื่ออื่น ๆ ให้ได้มากที่สุดแทน

แม้สิงคโปร์จะมีห้องสมุดจากรัฐเพียง 27 แห่ง แต่มีผู้เข้าเยี่ยมปีหนึ่ง ๆ กว่า 24 ล้านราย และมีการยืม-คืนรายการต่าง ๆ กว่า 30 ล้านรายการ

นอกจากนี้ ยังมีการนำเทคโนโลยีมาใช้กับห้องสมุดอีกหลาย ๆ ส่วนด้วย เช่น

– หุ่นยนต์ช่วยหาหนังสือ

– มีโรงละคร นิทรรศการ AR แกลลอรี่ศิลปะ

– ยืม/คืน ต่อเวลา ด้วยหุ่นยนต์ทั้งหมด

ที่มา : Worldpopulationreview, NLB, TCIJThai, Thematter, TKPark, Posttoday, Bangkokcitylibrary, Newstatesman, Blockdit, YLE

Popular Topics