“วันสตรีสากล” อาชญากรรมทางเพศทั่วประเทศไทยมีมากแค่ไหน?

Highlight

“วันสตรีสากล” ที่สิทธิของผู้หญิงยังไม่ถูกคุ้มครองมากเท่าที่ควร

หนึ่งสิ่งที่มาสนับสนุนเรื่องนี้ได้เป็นอย่างดีคือจำนวนอาชญากรรมที่เกิดขึ้นกับผู้หญิง อย่างเช่น คดีข่มขืนกระทำชำเรา ที่สร้างบาดแผลทางร่างกายและจิตใจต่อเหยื่ออย่างรุนแรง แต่ปัญหาการคุกคามทางเพศกลับเป็นอาชญากรรมที่ถูกมองข้ามมากที่สุดในหลายมิติ ไม่ว่าจะเป็น ‘ไม่กล้าแจ้งความ’ ‘โทษเหยื่อ’ ‘เดี๋ยวก็รักกันเอง’ และ ทัศนคติทางสังคมอีกหลายๆ ด้าน ทำให้อาชญากรรมทางเพศนี้ไม่หมดไปง่ายๆ

แล้วอาชญากรรมทางเพศทั่วประเทศไทยมีมากแค่ไหน? ถูกกดทับด้วยปัญหาอะไรบ้าง #Agenda รวบรวมมาให้แล้ว

ในปี 2564 ไทยมีผู้ต้องหาคดีข่มขืนเกิดขึ้นเฉลี่ย 4 รายต่อวัน มีคดีรับแจ้ง 3 คดีต่อวัน แต่ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงตัวเลขที่มีการรับแจ้งเท่านั้น มีรายงานว่า 90% ของคดีเหล่านี้ไม่มีการแจ้งความ ในปี 2565 หากรวมเข้ากับคดีการทำร้ายร่างกายหรือจิตใจ จะพบว่าผู้หญิงไทยเป็นเหยื่อความรุนแรงและอาชญากรรมทางเพศ 7 คนต่อวัน

จากสถิติผู้ต้องหาคดีข่มขืนกระทำชำเราในแต่ละจังหวัดพบว่า ไทยมีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืนรวม 1,594 รายในปี 2564 โดยจังหวัดที่มีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืนมากที่สุด 3 อันดับแรกได้แก่

– กรุงเทพฯ มีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืน 124 ราย มีการได้รับแจ้งคดีข่มขืน มากถึง 127 คดี

– ชลบุรี มีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืน 67 ราย มีการคดีข่มขืนกระทำชำเรา 69 คดี

– นครราชสีมา มีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืน 63 ราย มีการคดีข่มขืนกระทำชำเรา 55 คดี

สำหรับจังหวัดที่มีคดีเกิดขึ้นน้อยที่สุดได้แก่ จังหวัดสิงห์บุรี ที่มีจำนวนผู้ต้องหาคดีข่มขืนกระทำชำเรา 2 ราย

สาเหตุที่อาชญากรรมทางเพศยังมีอยู่ และมีมากกว่าที่ได้รับแจ้งเป็นเพราะอะไรบ้าง?

– โครงสร้างทางสังคม

การมีโครงสร้าง “อำนาจนิยม” ทำให้ผู้คนเกิดความคิดว่า สามารถทำอะไรก็ได้ตราบใดที่มีอำนาจเหนืออีกฝ่าย ซึ่งสิ่งนี้เป็นสิ่งที่ทำให้เกิดการข่มขืนกระทำชำเราขึ้น และจะเห็นได้บ่อยครั้งว่าผู้ก่อเหตุนั้นเป็นผู้ใกล้ชิดของผู้ถูกกระทำ อย่างเช่น เป็นคนในครอบครัว ญาติผู้ใหญ่ ครูอาจารย์ เป็นต้น เพราะกลุ่มคนเหล่านี้รู้สึกว่าเขามีอำนาจเหนือกว่าผู้ที่ถูกกระทำอย่างแน่นอน

นอกจากนี้ยังมี “ทัศนคติชายเป็นใหญ่” ที่ฝังรากลึกกับสังคมไทยมาอย่างช้านาน สังเกตได้ว่าผู้กระทำความผิดส่วนใหญ่จะเป็นเพศชาย ส่วนหนึ่งก็เป็นเพราะทัศนคตินี้นี่เองที่ทำให้ เพศชายรู้สึกว่าตนมีอำนาจเหนือกว่าเพศหญิงหรือเพศอื่นจนนำไปสู่การกระทำความผิด ซึ่งผู้กระทำผิดอาจมองว่าเป็นการแสดงอำนาจบางอย่างของตนเอง

– อิทธิพลจากสื่อ

การที่ผู้คนในยุคนี้สามารถเข้าถึงสื่อออนไลน์ได้อย่างรวดเร็ว ทำให้การเข้าถึงสื่อลามกต่าง ๆ เป็นไปได้อย่างง่ายดายมากขึ้น จนบางครั้งอาจก่อให้เกิดการเลียนแบบหรือกระตุ้นให้ผู้คนกระทำอาชญากรรมได้มากขึ้น นอกจากนี้ปัญหาที่ชัดที่สุดและมีมาอย่างยาวนานก็คือ ละครไทยที่สร้างฉาก “ข่มขืน” ให้กลายเป็นฉาก “เลิฟซีน” และเส้นเรื่องที่จบด้วยการรักกันของตัวเอง ส่งผลกระทบต่อความคิดของกลุ่มคนที่เสพสื่อด้วยเช่นกัน เพราะนอกจากจะทำให้กลายเป็นเรื่องปกติแล้ว ยังทำให้กลายเป็นเรื่องที่จำเป็นสำหรับความสัมพันธ์อีกด้วย

– ความปลอดภัยในพื้นที่

อีกหนึ่งปัจจัยที่มีผลเช่นกันคือเรื่องของสถานที่ที่เอื้ออำนวยให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นได้ เช่น ชุมชนแออัด พื้นที่เปลี่ยว โดยจากข้อมูลจากมูลนิธิหญิงชายก้าวไกลแสดงให้เห็นว่า สถานที่เกิดเหตุส่วนใหญ่เกิดขึ้นในที่พักผู้เสียหาย รองลงมาคือริมถนนตามที่ร้างต่าง ๆ ซึ่งหากลดความเสี่ยงตรงนี้ก็อาจช่วยป้องกันไม่ให้เกิดการกระทำความผิดขึ้นได้อย่างมาก ดังนั้นเมืองหรือพื้นที่สาธารณะต่าง ๆ จึงควรต้องมีความปลอดภัยสำหรับคนทุกคนทุกเพศ

– วัฒนธรรมการโทษเหยื่อ (Victim Blaming) 

หนึ่งในเรื่องสืบทอดที่มีมานาน และปรากฎในหลายวัฒนธรรมทั้งตะวันตก และโดยเฉพาะเอเชีย ที่มีวัฒนธรรมการวาดภาพผู้หญิงให้ต้องอยู่ในอุดมคติและกรอบของสังคมเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นการตั้งคำถามกับเหยื่อที่ถูกข่มขืนว่า ‘ทำตัวไม่เรียบร้อย’ ‘กลับบ้านดึก?’ ‘ไม่ขัดขืนมากพอ?’ ‘แต่งตัวโป๊?’

ความเชื่อหรือค่านิยมผิด ๆ เหล่านี้ ยิ่งสร้างรอยแผลซ้ำเติมให้กับผู้ถูกกระทำ และยังคงเกิดขึ้นเรื่อย ๆ แม้จะมีการรณรงค์ปรับวิธีคิดและปฏิบัติต่อเหยื่อใหม่ เช่น การจัดนิทรรศการ “Don’t tell me how to dress” ที่เป็นการรวบรวมเสื้อผ้าที่ผู้ถูกกระทำใส่ในวันเกิดเหตุ ซึ่งล้วนแต่เป็นชุดที่ใส่ในชีวิตประจำวันทั่วไป แสดงให้เห็นว่า โดนข่มขืนเพราะแต่งตัวโป๊เป็นความเชื่อที่ผิด เพราะไม่ว่าจะแต่งตัวเรียบร้อยขนาดไหนก็สามารถเป็นผู้ถูกกระทำได้ และสิทธิในการเลือกเครื่องแต่งกายเป็นสิทธิส่วนบุคคล การแต่งตัวโป๊ไม่ใช่การเชิญชวนหรืออนุญาตให้คุกคามทางเพศ

การโทษเหยื่อและการบีบบังคับว่าผู้หญิงต้องอยู่ในอุดมคติของสังคมเท่านั้น ยังทำให้เกิดการแจ้งความน้อยกว่าความเป็นจริงถึง 90% เพราะเหยื่อผู้ถูกกระทำไม่อยากออกมาพูดให้คนอื่นรับรู้ และบางรายต้องทนถูกกระทำซ้ำเพราะผู้กระทำผิดชะล่าใจอีกด้วย

โดยมีคำกล่าวที่ว่า ผู้ถูกกระทำจากเหตุข่มขืนกระทำชำเรานั้นจะตกเป็นเหยื่อถึง 3 ครั้ง ครั้งแรกจากการล่วงละเมิด ครั้งที่ 2 จากกระบวนการยุติธรรม และครั้งสุดท้ายจากสื่อมวลชนและผู้คนในสังคม ซึ่งเรื่องนี้เป็นเรื่องที่ไม่ควรเกิดขึ้น เพราะนอกจากจะทำให้ผู้กระทำรู้สึกถึงการปกป้องแล้ว ยังก่อให้เกิดแผลในจิตใจของผู้กระทำซ้ำมากขึ้นไปอีก

จากสถิติของสำนักงานตำรวจแห่งชาติแสดงให้เห็นว่าทั้งประเทศไทยมีการรับแจ้งคดีข่มขืนกระทำชำเราทั้งหมด 1,405 คดี ซึ่งแม้จะเป็นตัวเลขที่ดูน้อยเมื่อเทียบกับประเทศอินเดียที่มีคดีเกิดขึ้นกว่า 32,000 คดี หรือประเทศอังกฤษที่มีคดีเกิดขึ้นกว่า 70,000 คดี แต่ตัวเลขเหล่านี้เป็นเพียงจำนวนคดีที่มีการรับแจ้งเท่านั้น ซึ่งคาดการณ์ว่าจำนวนจริงจะมีเยอะกว่านี้มาก

และถึงแม้จะเป็นตัวเลขที่น้อยเมื่อเทียบกับประเทศอื่น แต่ตัวเลขเหล่านี้ไม่ใช่ตัวเลขที่ควรเกิดขึ้นในสังคมของใคร หรือเพศใดก็ตาม

ที่มา: Deutsche Welle, Rape Crisis England & Wales, 101 World, The Momentum, TNN, Workpointtoday, The Matter, กรมสุขภาพจิต, สำนักงานสถิติแห่งชาติ, สำนักงานตำรวจแห่งชาติ

Popular Topics