รู้หรือไม่? พื้นที่สีเขียว นอกจากจะสำคัญต่อสิ่งแวดล้อมแล้ว
ยังช่วยยกระดับคุณภาพการใช้ชีวิตของผู้คนในเมืองอีกด้วย
.
พื้นที่สีเขียว หมายความถึง พื้นที่ธรรมชาติ หรือพื้นที่ที่มนุษย์สร้างขึ้นหรือกำหนดขึ้นในเมืองหรือชุมชนที่ปกคลุมด้วยพืชพรรณเป็นองค์ประกอบหลัก มีประโยชน์เพื่อสิ่งแวดล้อม ระบบนิเวศการดำรงชีวิต และคุณภาพชีวิตของประชาชน
.
ประโยชน์ของพื้นที่สีเขียวนั้นสามารถแบ่งได้หลากหลายด้าน ได้แก่
.
– ประโยชน์ด้านสุขภาพจิต จากการศึกษาพบว่า การเข้าถึงธรรมชาติส่งผลต่อระดับความรู้สึกของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยเฉพาะในกลุ่มเด็กและผู้สูงอายุ ซึ่งหากสามารถเข้าถึงธรรมชาติได้ง่ายจะส่งผลให้ผู้คนมีความสุขและสมาธิที่มากขึ้นอีกด้วย โดยมีการยืนยันว่าพื้นที่สีเขียวสามารถเพิ่มประสิทธิภาพในการทำงานได้มากถึง 20% เลยทีเดียว
.
– ประโยชน์ด้านสุขภาพทางร่างกาย การมีพื้นที่สีเขียวภายในเมืองสามารถช่วยยกระดับกิจกรรมที่ส่งเสริมด้านสุขภาพได้เป็นอย่างดี เนื่องจากส่งผลให้ผู้คนภายในเมืองนิยมออกมาทำกิจกรรมกลางแจ้งมากขึ้น รวมทั้งยังมีการศึกษาพบว่า การอยู่ใกล้ชิดธรรมชาติส่งผลต่อการมีอายุที่ยืนยาวของผู้คนอีกด้วย
.
– ประโยชน์ด้านสังคม ในเมืองที่ทุกอย่างดูวุ่นวายและเต็มไปด้วยมลภาวะ พื้นที่สีเขียวที่เงียบสงบและผ่อนคลายจึงถูกยกมาเป็นแหล่งในการนัดพบปะสังสรรค์กันมากขึ้นอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ ซึ่งระดับความสัมพันธ์ที่ดีมักเป็นผลมาจากการอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ดีด้วยเช่นกัน
.
นอกจากประโยชน์ทั้ง 3 ด้านนี้ พื้นที่สีเขียวก็ยังสร้างประโยชน์ให้แก่เมืองอีกมากมาย ทั้งการช่วยลดปัญหาฝุ่นควัน มลพิษต่างๆ ช่วยเพิ่มระดับคุณภาพทางอากาศ ช่วยเพิ่มความหลากหลายทางชีวภาพ ไปจนถึงช่วยลดระดับความร้อนภายในเมือง โดยพบว่าพื้นที่สีเขียวสามารถลดระดับความร้อนลงได้ ตั้งแต่ 5 ไปจนถึง 20 องศาเลยทีเดียว
.
จากประโยชน์อันมากมายทั้งหมดของพื้นที่สีเขียวนี้เองจึงทำให้ องค์การอนามัยโลก (WHO) จึงได้ทำการกำหนดมาตรฐานเอาไว้เพื่อส่งเสริมให้เมืองต่างๆ พัฒนาและเพิ่มพื้นที่สีเขียวให้มากขึ้น เพื่อให้เหมาะสมกับจำนวนประชากรในแต่ละเมือง โดยกำหนดเอาไว้ว่า ประชาชน 1 คนควรมีพื้นที่สีเขียว 9-15 ตารางเมตร เมืองนั้นจึงจะถือว่าเป็นเมืองที่มีสิ่งแวดล้อมที่ดี
.
ซึ่งจากข้อมูลพบว่า กรุงเทพฯ ที่เป็นเมืองหลวงของเรานั้นมีพื้นที่สีเขียวเพียง 7.4 ตารางเมตรต่อประชาชน 1 คนเท่านั้น ซึ่งถือว่ายังต่ำกว่าเกณฑ์ที่ WHO กำหนดเอาไว้ รวมทั้งข้อมูลดังกล่าวยังไม่ได้นับรวมจำนวนประชากรแฝงภายในกรุงเทพฯ ที่มีอยู่อีกมาก และอาจทำให้สัดส่วนพื้นที่สีเขียวต่อประชากรน้อยลงไปอีกก็เป็นได้
.
และสัดส่วนพื้นที่สีเขียวในจังหวัดอื่นๆ นอกจากกรุงเทพฯ จะเป็นอย่างไรบ้าง
วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นกัน
.
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวเยอะที่สุด 3 จังหวัดแรกได้แก่
– จังหวัดระนอง โดยมีพื้นที่สีเขียว 517 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดบึงกาฬ โดยมีพื้นที่สีเขียว 394 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดนครพนม โดยมีพื้นที่สีเขียว 237 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
.
จังหวัดที่มีสัดส่วนพื้นที่สีเขียวน้อยและต่ำกว่าเกณฑ์มาตรฐานที่ WHO ตั้งไว้ ได้แก่
– จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีพื้นที่สีเขียว 6 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดนนทบุรี โดยมีพื้นที่สีเขียว 3 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
– จังหวัดสมุทรสาคร โดยมีพื้นที่สีเขียว 2 ตร.ม. ต่อประชากร 1 คน
.
ซึ่งเมื่อพิจารณาจากประโยชน์ต่างๆ ของพื้นที่สีเขียวภายในเมืองแล้ว การเพิ่มพื้นที่สีเขียวในจังหวัดต่างๆ จึงมีความสำคัญอย่างมาก และภาครัฐควรเข้ามาทำการช่วยเหลือหรือสนับสนุนกันอย่างจริงจังให้มากยิ่งขึ้น
.
*ข้อมูลภายในภาพเป็นการเก็บรวบรวมข้อมูลพื้นที่สีเขียวในหลากหลายรูปแบบ ตั้งแต่สวนสาธารณะ ไร่ นา พื้นที่ริมทางสัญจร ไปจนถึง พื้นที่ธรรมชาติ แต่จำกัดเฉพาะภายในเทศบาลของแต่ละจังหวัดเท่านั้น
.
ที่มา: สำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม, CIRIA open space 2022, Tomorrow City, PPTV HD 36, European Environment Agency, The Cloud