ความเหลื่อมล้ำ หรืออัตราการกระจายรายได้ในประชากร มักถูกเข้าใจว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความสุขของผู้คนในประเทศ แต่ความเป็นจริงจะเป็นเช่นนั้นหรือไม่? ประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยจะมีความสุขมากเสมอไปจริงหรอ หรือปัจจัยอื่น ๆ จะส่งผลกระทบมากกว่า
วันนี้ #Agenda พาไปดูการเปรียบเทียบระดับ ความสุขและความเหลื่อมล้ำ ในแต่ละประเทศผ่านการเก็บข้อมูลของ World Happiness Report และ The World Bank รวมทั้งปัจจัยอื่น ๆ ที่ส่งผลต่อระดับความสุขในแต่ละประเทศกัน
การวัดระดับความสุขโดย World Happiness Report นั้น มาจากข้อมูลผู้ตอบแบบสอบถามกว่าพันคน ซึ่งให้คะแนนตามอัตวิสัยในคำถามที่แสดงถึงปัจจัยต่าง ๆ อย่างเช่น การสนับสนุนทางสังคม อายุขัย อิสระในการดำเนินชีวิต ค่า GDP ต่อหัว อัตราการทุจริตคอรัปชั่น ภายในประเทศนั้น ๆ มาประมวลผลรวมกัน โดยเริ่มต้นจาก 0-8 ยิ่งมากยิ่งมีความสุขมาก
ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ The World Bank ทำการเก็บรวมรวมโดยวัดจากการกระจายรายได้ของประชากรในแต่ละประเทศ โดยวัดจาก 0 – 1 ยิ่งมากยิ่งเหลื่อมล้ำมากเช่นกัน โดยในภาพเป็นการรวมประเทศที่มีการเก็บข้อมูลตั้งแต่ปี 2014 เป็นต้นไปเท่านั้น
ประเทศที่มีความสุขมาก ความเหลื่อมล้ำน้อย
🇫🇮 Finland
คะแนนความสุข: 7.8
คะแนนความเหลื่อมล้ำ: 0.27
จำนวนประชากร: 5,540,000 คน
.
ฟินแลนด์เป็นประเทศที่ได้รับคะแนนความสุขมากที่สุดในยุโรป เนื่องจากหลากหลายปัจจัยด้วยกัน ปัจจัยแรกคือ สภาพแวดล้อมที่ดี ธรรมชาติอุดมสมบูรณ์ สภาพอากาศดีและระดับมลพิษน้อย ทำให้ชาวฟินแลนด์ถูกห้อมล้อมไปด้วยธรรมชาติที่สวยงามและสามารถออกมาใช้ชีวิตในวันหยุด ทำกิจกรรมข้างนอกบ้านได้อย่างสบายใจ
ปัจจัยต่อมาคือความอิสระของผู้คนภายในประเทศ วัฒนธรรมของชาวฟินแลนด์เน้นไปที่การร่วมมือมากกว่าการแข่งขัน เริ่มต้นจากระบบการศึกษาที่เอื้ออำนวยให้เด็ก ๆ ในฟินแลนด์ได้รับโอกาสในการค้นหาตัวเองมากกว่าคิดแข่งกับคนอื่น นอกจากนี้ฟินแลนด์ยังมีระบบดูแลสุขภาพที่ทุกคนสามารถเข้าถึงได้และมีระดับอาชญากรรมในสังคมที่น้อยมาก ทำให้ผู้คนรู้สึกปลอดภัยและมีความสุขมากขึ้นอีกด้วย
อีกหนึ่งปัจจัยสุดท้ายที่ทำให้ฟินแลนด์แตกต่างจากประเทศอื่น ๆ คือความเท่าเทียมภายในประเทศ ฟินแลนด์เป็นประเทศที่มีคนชนชั้นกลางเยอะ และมีระดับคนจนน้อยมาก แถมคนจนก็ยังเข้าถึงระบบการศึกษาและระบบสุขภาพได้อย่างเท่าเทียม ทำให้ประเทศฟินแลนด์แทบจะไม่มีปัญหาคนไร้บ้านเลย
ประเทศที่มีความสุขมาก ความเหลื่อมล้ำมาก
🇧🇷 Brazil
คะแนนความสุข: 7
คะแนนความเหลื่อมล้ำ: 0.49
จำนวนประชากร: 215,313,000 คน
.
ประเทศบราซิลให้ความสำคัญกับความสุขของผู้คนเป็นอย่างมาก โดยได้มีการสร้าง Well Being Brazil (WBB) หรือดัชนีชี้วัดความสุขและสุขภาพ เพื่อช่วยเจ้าหน้าที่รัฐในการกำหนดนโยบายต่าง ๆ ที่จะสนับสนุนและปรับปรุงความเป็นอยู่ของผู้คนในเมืองต่าง ๆ ให้ดีมากยิ่งขึ้น ซึ่งได้รับผลตอบรับที่ดีอย่างมาก ทำให้บราซิลกลายเป็นประเทศที่มีระดับความสุขสูงมากแม้จะมีความเหลื่อมล้ำเกิดขึ้นภายในประเทศ
นอกจากนั้นประเทศบราซิลยังมีการเฉลิมฉลองเทศกาลต่าง ๆ ที่ทำให้ผู้คนรู้สึกถึงความสนุกสนานและเพลิดเพลินไปกับบรรยากาศรอบตัว อย่างเช่น เทศกาลคาร์นิวัล ที่มีชื่อเสียงไปทั่วโลก แต่ทั้งนี้เทศกาลคาร์นิวัลก็ยังไม่ใช่เทศกาลเดียวที่ชาวบราซิลออกมาเฉลิมฉลองกัน เพราะชาวบราซิลยังเปลี่ยนโอกาสต่าง ๆ ตั้งแต่งานเก็บเกี่ยวไปจนถึงงานส่งท้ายปีให้เป็นการเฉลิมฉลองอีกด้วย
ยิ่งไปกว่านั้นประเทศบราซิลยังเป็นแหล่งรวมวัฒนธรรมต่าง ๆ เพราะมีผู้คนจากหลากหลายเชื้อชาติ หลากหลายประเทศเข้ามาใช้ชีวิตอยู่ภายในประเทศนี้ โดยบราซิลเป็นประเทศที่เปิดกว้างในเรื่องดังกล่าว ให้ความเคารพแก่ธรรมเนียมและวัฒนธรรมของทุกเชื้อชาติ จนถือได้ว่าเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีความหลากหลายทางวัฒนธรรมสูงมาก
.
ประเทศที่มีความสุขน้อย ความเหลื่อมล้ำน้อย
.
🇮🇳 India
คะแนนความสุข: 3.8
คะแนนความเหลื่อมล้ำ: 0.36
จำนวนประชากร: 1,417,173,000 คน
.
อินเดียเป็นประเทศที่ได้รับระดับความสุขน้อยมาก สืบเนื่องจากหลายปัจจัยทั้งการขยายตัวของเมืองอย่างรวดเร็ว ความแออัดภายในเมือง ความกังวลในเรื่องของอาหารและน้ำ และปัญหาในการเข้าถึงระบบสุขภาพที่มีค่าใช้จ่ายสูง แถมด้วยความแออัดยังทำให้เกิดปัญหาด้านสิ่งแวดล้อมตามมาอีกด้วย
ซึ่งจากปัจจัยต่าง ๆ ส่งผลให้ผู้คนในอินเดียมีปัญหาสุขภาพจิตเพิ่มมากขึ้นเรื่อย ๆ จากสถิติพบว่าประเทศอินเดียมีอัตราการฆ่าตัวตายที่สูงมาก โดยในปี 2019 มีรายงานว่า มีการฆ่าตัวตายอยู่ที่ 381 รายต่อวันเลยทีเดียว แถมผู้คนยังกังวลในค่าใช้จ่ายที่สูงในการรักษาปัญหาสุขภาพจิตของพวกเขาอีกด้วย
นอกจากนั้นในอินเดียเรายังจะได้พบเจอการลักเล็กขโมยน้อยในทุก ๆ วัน โดยพบเห็นได้ตั้งแต่ตามท้องถนนลามไปจนถึงในรัฐสภา เพราะอินเดียเป็นอีกประเทศหนึ่งที่มีอัตราการคอรัปชั่นสูงมาก ซึ่งสร้างความกังวลให้แก่ผู้คนมากเช่นกัน
ปัญหาความเหลื่อมล้ำในอินเดียถือเป็นอีกหนึ่งปัจจัยที่ส่งผลต่อระดับความสุขของผู้คนในประเทศ โดยนักเศรษฐศาสตร์เชื่อว่า การที่ผู้คนที่มีฐานะดีจัดงานสังสรรค์รื่นเริงบ่อย ๆ ส่งผลต่อระดับความสุขของผู้คนในชนชั้นแรงงานเป็นอย่างมาก
.
ประเทศที่ความสุขน้อย ความเหลื่อมล้ำมาก
.
🇿🇼 Zimbabwe
คะแนนความสุข: 3
คะแนนความเหลื่อมล้ำ: 0.5
จำนวนประชากร: 16,320,000 คน
.
ซิมบับเว เป็นประเทศที่มีระดับความสุขน้อยที่สุดในทวีปแอฟริกา เนื่องจากประสบกับวิกฤตทางการเมือง จากการบริหารประเทศของอดีตประธานาธิบดี โรเบิร์ต มูกาเบ (Robert Mugabe) ที่ทำการปฏิรูปที่ดิน โดยการบุกรุกและยึดคืนที่ดินของกลุ่มคนผิวขาวซึ่งคิดเป็นร้อยละ 75 ของที่ดินทั้งประเทศมาจัดสรรให้แก่ชาวผิวสีแทนเพื่อเรียกคะแนนเสียงให้แก่ตนเอง จนทำให้ประเทศในทางตะวันตกหันมาต่อต้านและกดดันซิมบับเวอย่างมาก
จากเรื่องราวดังกล่าวส่งผลให้ระบบเศรษฐกิจและสังคมของซิมบับเวล่มสลาย ทำให้เศรษฐกิจตกต่ำอย่างต่อเนื่อง เกิดภาวะเงินเฟ้อ ภาวะการว่างงาน การขาดแคลนอาหารอย่างรุนแรง รวมทั้งยังทำให้ระบบสาธารณสุขล้มเหลวและระบบสาธารณูปโภคพื้นฐานของประเทศไม่พัฒนาตามไปอีกด้วย โดยมีการรายงานว่ามีเพียงประชากรร้อยละ 20 ของประเทศเท่านั้นที่มีงานประจำ
ระบบเศรษฐกิจของซิมบับเวยิ่งตกต่ำลงไปอีกครั้งเมื่อประสบกับวิกฤตการณ์โควิด โดยสถานการณ์เงินเฟ้อยิ่งทวีความรุนแรงมากขึ้นไปอีกโดยมีอัตราสูงสุดอยู่ที่ 700% ในปี 2020 ส่งผลให้ประชาชนขาดแคลนอาหารรุนแรงมากขึ้นไปอีกในช่วงท้ายปี 2020
.
🇹🇭 Thailand
คะแนนความสุข: 5.9
คะแนนความเหลื่อมล้ำ: 0.35
จำนวนประชากร: 71,697,000 คน
.
ประเทศไทยเป็นประเทศที่มีระดับความสุขสูงเป็นอันดับสามของอาเซียน โดยเป็นรองเพียงแค่สิงคโปร์และฟิลิปปินส์เท่านั้น แถมยังเป็นอันดับที่ 61 ของโลกอีกด้วย แต่จากสถิติพบว่าระดับความสุขของคนไทยลดน้อยลงมากถ้าเทียบกับในปีก่อน ๆ โดยพบว่าหลังจากมีการรัฐประหารปี 2014 ระดับความสุขของคนไทยก็เริ่มลดน้อยลงเรื่อย ๆ โดยร่วงจากอันดับที่ 36 ของโลกมาอยู่ที่ลำดับ 61 ในปัจจุบัน
ในส่วนของความเหลื่อมล้ำ มีการคาดการณ์ว่าความเหลื่อมล้ำทางรายได้ของคนไทยในความเป็นจริงนั้น อาจสูงกว่าตัวเลขทางการมาก โดยความเหลื่อมล้ำของไทยนั้นที่ปรับตัวดีขึ้นได้ส่วนหนึ่งมาจากการช่วยเหลือจากทางภาครัฐ ซึ่งไม่ได้เป็นการแก้ปัญหาในระยะยาวและไม่มีความยั่งยืน นอกจากนี้ประเทศไทยยังมีความเหลื่อมล้ำทางด้านโอกาสอีกด้วย ทั้งในมิติของการศึกษา สิทธิแรงงาน ค่าแรงที่เติบโตช้ากว่าเศรษฐกิจ กำไรที่กระจุกตัวอยู่แต่บริษัทขนาดใหญ่ และการขาดสวัสดิการจากภาครัฐ ส่งผลให้ประเทศไทยเกิดความเหลื่อมล้ำเป็นอย่างมาก และยิ่งแย่ลงเมื่อประสบปัญหาโควิด-19
จากข้อมูลต่าง ๆ ของแต่ละประเทศจะเห็นว่า ระดับความเหลื่อมล้ำแม้จะไม่ได้ส่งผลต่อระดับความสุขโดยตรงแต่ก็ยังถือว่าเป็นอีกหนึ่งปัจจัยเช่นกัน และไม่ได้หมายความว่าประเทศที่มีความเหลื่อมล้ำน้อยจะมีระดับความสุขมากเสมอไป
Sources: World Happiness Report, Visualcapitalist, The World Bank, World Population Review, Helsinki Times, Huffpost, Brand Inside, Kiatnakin Phatra,KIIT University, กระทรวงการต่างประเทศ