ยืนยันผลการเลือกตั้งทั่วไป ปี 2566 อย่างไม่เป็นทางการ เป็นอันเข้าใจและยอมรับว่าพรรก้าวไกลสามารถกวาดที่นั่งสมาชิกสภาผู้แทนราษฎร (ส.ส.) มากที่สุดเป็นอันดับ 1 อยู่ที่ 151 ที่นั่ง อยู่ในช่วงของการเจรจาพรรคร่วมรัฐบาลและรวบรวม ส.ส. เพื่อจัดตั้งรัฐบาลเสียงข้างมาก ก่อนเข้าสู่กระบวนการประชุมสภา สมัยแรก การโหวตเลือกนายกรัฐมนตรี ฟอร์มคณะรัฐมนตรี และบริหารประเทศอย่างเป็นทางการ 🇹🇭
ผลการเลือกตั้งครั้งนี้ ส.ส. หน้าเก่าบางคนได้ไปต่อ บางคนสอบตก บางคนเกิดอุบัติเหตุทางการเมือง เป็นที่น่าเสียดายที่ประชาชนอาจไม่ได้เห็นลีลาการอภิปรายอันดุเดือด ด้วยความคิดถึง เรารวบรวม 9 อันดับอดีตดาวเด่นสภาที่อาจไม่เห็นหน้าใน #รัฐบาลก้าวไกล มารำลึกถึงพวกเขาด้วยกัน 🧡
1) อมรัตน์ โชคปมิตรกุล ⎯ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
สถานะ : วางมือ มาทำงานเบื้องหลัง ตรวจสอบรัฐบาลก้าวไกล
ส.ส. เจี๊ยบ เป็นตัวตึงจากพรรคก้าวไกลที่มักจะออกมาฟาดฟันกับฝ่ายรัฐบาลอยู่เสมอ ผลงานในสภา เช่น การอภิปราย พล.อ ประยุทธ์ จันโอชา กรณีการปล่อยปะให้มีการทุจริตในกองทัพ กรณีการก่อสร้างอุทยานราชภักดิ์ แม้จะเป็นผู้หญิงแต่สามารถอภิปรายได้อย่างยอดเยี่ยม หนักแน่น เข้มแข็ง ปัจจุบัน เธอประกาศไม่ลง ส.ส. อีกในการเลือกตั้งปี 66 แต่ยังคงทำงานหลังบ้านให้พรรคก้าวไกล และพร้อมจะตรวจสอบการทำงานของรัฐบาลก้าวไกล ไม่ให้เกิดการทรยศคำสัญญาที่ให้ไว้กับประชาชน
2) พิจารณ์ เชาวพัฒนวงศ์ ⎯ อดีต ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคก้าวไกล
สถานะ : วางมือ มาทำงานเบื้องหลัง สนับสนุนงานของรัฐบาลก้าวไกล
พิจารณ์ เป็นรองหัวหน้าพรรคก้าวไกลที่ประกาศตัว ไม่ขอลง ส.ส. ในการเลือกตั้ง โดยให้เห็นผลว่าภายใต้รัฐบาลก้าวไกล ตนสามารถทำงานด้านอื่น ๆ นอกสภาเพื่อซัพพอร์ตการเมืองแห่งความหวังได้ จึงอยากเปิดทางให้เพื่อนสมาชิก ได้มาทำงานเป็นกระบอกเสียงให้ประชาชนต่อไป ผลงานเด่น ๆ ในสภา คือ การเปิดโปงสปายแวร์ระดับอาวุธสงครามร้ายแรง Pegasus ที่คาดว่ารัฐบาลใช้สอดแนมผู้เห็นต่าง
3) ศรีนวล บุญลือ ⎯ งูเห่า พรรคก้าวไกล ย้ายไป พรรคภูมิใจ
สถานะ : สอบตก แพ้เลือกตั้ง สส. พรรคก้าวไกล
นางศรีนวล คือ สส.เชียงใหม่ ที่ชนะเลือกตั้งด้วยคะแนนเสียงสูงที่สุด คือ 75,891 คะแนน และเป็นผู้เสนอชื่อ ขอเสียงรับรอง “นายธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ” เป็นนายกรัฐมนตรี (ขณะนั้น) พร้อมลีลาการอภิปรายในสภาโดย “อู้คำเมือง” ทำให้เป็น ส.ส. ที่ได้รับความสนใจอยู่พักหนึ่ง ก่อนสร้างตำนานงูเห่าที่ช็อกสภาย้ายจากไปภูมิใจไทย บทเรียนสำคัญของพรรคส้ม ทว่าในการเลือกตั้งปี 66 ที่เธอลงในนามภูมิใจไทย คะแนนพ่ายแพ้ยับเยิน และแน่นอนว่าแพ้ผู้สมัครจากพรรคก้าวไกล ปิดตำนานงูเห่าพรรคส้ม…บริบูรณ์
4) จิรายุ ห่วงทรัพย์ ⎯ ส.ส. กรุงเทพฯ พรรคเพื่อไทย
สถานะ : สอบตก แพ้เลือกตั้ง ส.ส. พรรคก้าวไกล
นายจิรายุ เป็นหนึ่งดาวอภิปรายตัวท็อปจากฝั่งเพื่อไทย ลีลาการอภิปรายที่เข้าใจง่าย ย่อยเนื้อหาซับซ้อน แทรกคารมความขี้เล่น มีวาทศิลป์ในการเปรียบเทียบ และ “พร็อพ” แน่น ๆ รอบตัว ปี 66 แพ้เลือกตั้ง ส.ส. ก้าวไกล ได้รับคะแนนเสียงไปเพียง 27,111 คะแนน ผลงานที่โดดเด่น คือ การยกเตาตาอั้งโล่มาอภิปรายไม่ไว้วางใจประเด็นการแก้ปัญหาราคาพลังงานสูง หรือการปฏิรูปประเทศแบบปราสาททราย
5) มิ่งขวัญ แสงสุวรรณ ⎯ ส.ส.บัญชีรายชื่อ พรรคเศรษฐกิจใหม่
สถานะ : สอบตก ย้ายไป พรรคพลังประชารัฐ คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงเกณฑ์
คุณมิ่งขวัญเคยเป็นอดีตพรรคร่วมฝ่ายค้าน สมัยรัฐบาลประยุทธ์ มีส่วนร่วมในศึกซักฟอกรัฐบาล เช่น ประเด็นความผิดพลาดในการจัดสรรงบประมาณ จัดการโควิด-19 วัคซีน และ ATK ชำแหละนโยบายเศรษฐกิจเสี่ยงทำประเทศล้มเหลว ด้วยดีกรีนักวิชาการทางเศรษฐกิจทำให้มีคนชื่มชนอย่างยิ่ง เคยประกาศอุดมการณ์แตกต่างไม่สามารถร่วมงาน พล.อ.ประยุทธ์ แต่ท้ายที่สุดเลือกตั้ง 66 ซ้ายมาเป็นปาร์ตี้ลิสต์ของพรรคพลังประชารัฐ แต่ชวดเข้าสภาเพราะคะแนนเลือกตั้งปาร์ตี้ลิสต์ได้เพียง 1 ที่นั่งเท่านั้น
6) มงคลกิตติ์ สุขสินธารานนท์ – ส.ส. บัญชีรายชื่อ พรรคไทยศรีวิไลย์
สถานะ : สอบตก คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงเกณฑ์
คุณเต้เป็น ส.ส. ย้ายขั้วจากเคยสนับสนุน พล.อ.ประยุทธ์ เป็นนายกรัฐมนตรี ก่อนกลับลำหันมาสนับสนุนการทำงานกับฝ่ายค้านเป็นหนึ่งแรงการอภิปรายทั่วไป ประเด็นปกปิดข้อมูลอหิวาต์แอฟริกาในหมู ASF ระบาด ตั้งข้อสงสัยเรื่องการเอื้อเอกชนรายใหญ่กักตุนเนื้อหมูจนทำประชาชนเดือดร้อน ส.ส. เป็นสายบวกที่มักมีประเด็นบนหน้าสื่ออยู่เสมอ แต่ก็ทำงานสภาได้น่าพอใจ ก่อนสร้างซีนตำนานหลังอภิปราย ประกาศลาออก และก้มกราบกลางสภา การเลือกตั้ง 66 ถือว่าสอบตก คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงเกณฑ์
7) สิระ เจนจาคะ – สส. กรุงเทพฯ พรรคพลังประชารัฐ
สถานะ : ศาลสั่งพ้น สส. ประกาศหันหลังให้การเมือง
รัฐบาลที่ผ่านมา นายสิระ เจนจาคะ หนึ่งในดาวสภาที่ทำหน้าที่ทั้งอภิปรายและประท้วงฝ่ายค้านเมื่อมีการอภิปรายเชิงโจมตี พล.อ.ประยุทธ์ และ พล.อ. ประวิตร ด้วยบุคลิกมุทะลุ ไม่เกรงใจไง ทำให้เกิดการปะทะคารมกับ ส.ส. ขั้วตรงข้าม และเป็นข่าวอยูเนือง ๆ เช่น การห้อยจี้ พล.อ.ประวิตร พิทาทกับ พล.ตร.อ. เสรีพิศุทธิ์ หนึ่งคนที่ถูกยกให้เป็น “องครักษ์พิทักษ์ลุง” ก่อนจะเกิดคดีฉ้อโกงและใช้อำนาจในทางมิชอบ กระทั่ง ศาล รธน. มีคำสั่งพ้นสภา ส.ส. ไป และประกาศหันหลังให้การเมืองถาวรในที่สุด
8) ปารีณา ไกรคุปต์ – ส.ส. ราชบุรี พรรคพลังประชารัฐ
สถานะ : ห้ามดำรงตำแหน่งทางการเมืองตลอดชีวิต
หนึ่งดาวเด่นสภาที่ยังเป็นตำนาน กับ คุณปารีณา ส.ส.หญิงที่ได้ชื่อเป็นหนึ่ง “องครักษ์พิทักษ์ลุง” มักเป็นตัวตั้งตัวตีในการประท้วงฝ่ายค้านและอภิปรายสนับสนุนรัฐบาลอยู่เสมอ โดดเด่นในการสร้างกระแสข่าวทำให้สังคมสนใจ เช่น พิพาทคุณพรรณิการ์ กรณี “อีช่อ” ปะทะคารมกับ พล.ต.อ เสรีพิศุทธิ์ หลายครั้ง ทว่าเกิดคดีฝ่าฝืนจริยธรรมร้ายแรง บุกรุกป่าสงวน และศาลมีคำสั่ง เพิกถอนสิทธิเลือกตั้ง 10 ปี และเพิกถอนสิทธิสมัครรับเลือกตั้ง และไม่มีสิทธิดำรงตำแหน่งทางการเมืองใดๆ ไปตลอดชีวิต
9) ไพบูลย์ นิติตะวัน – สส. บัญชีรายชื่อ พรรคพลังประชารัฐ
สถานะ : สอบตก คะแนนปาร์ตี้ลิสต์ไม่ถึงเกณฑ์
คุณไพบูลย์เป็นหนึ่งในป้อมปราการสำคัญที่คอยออกมาให้ความเห็นตอบโต้ฝ่ายค้านทั้งในและนอกสภา จนได้ชื่อเป็นอีกหนึ่ง “องครักษ์พิทักษ์ลุง” โดยเฉพาะกรณีนายกถวายสัตย์คำปฏิญาณไม่ครบ เริ่มต้นจากเป็นหัวหน้าพรรคประชาชนปฏิรูป หรือ “พรรคน้อมนำคำสอนพระพุทธเจ้า” ก่อนย้ายไปกลายเป็นหนึ่งในปาร์ตี้ลิสต์ของพลังประชารัฐ (แบบงงๆ) ทว่าก็ทำงานซัพพอร์ตรัฐบาลเรื่อยมา ปัจจุบัน ไพบูลย์เป็นสมาชิกคนสำคัญของพลังประชารัฐ แต่น่าเสียดายที่คะแนนเลือกตั้งไม่เพียงพอจะกลับเข้าสภาได้อีกครั้ง
ไม่ว่าคุณจะชอบหรือไม่ แต่ต้องยอมรับว่าทั้ง 9 ท่านนี้เป็น “สีสัน” ของการประชุมสภาตลอด 4 ปีของรัฐบาลประยุทธ์ ทั้งนี้ ยังมีดาวสภาอีกหลายคนที่ไม่ได้ไปต่อ ตั้งแต่ ส.ส. ทั่วไป รวมไปถึงอดีตรัฐมนตรีบางคน ปฏิเสธไม่ได้ว่าการอภิปรายที่มีศิลปะ (ไม่ว่าจะเชิงข้อเท็จจริง การปะทะคารม ดราม่า) กระตุ้นความตื่นตัวทางการเมือง การรับชมการถ่ายทอดประชุมสภาได้รับความนิยมมากขึ้นกว่าในอดีตอย่างยิ่ง
ต้องคอยติดตามดูว่าภายใต้รัฐบาลก้าวไกลจะแจ้งเกิด “ดาวสภา” จากทั้งฝ่ายรัฐบาลและฝ่ายค้านคนไหนบ้าง อย่าลืมว่าประชาชนจับตาอยู่ ขอให้ ส.ส. ทุกท่านทำงานอย่างเต็มที่ด้วยอุดมการณ์เพื่อประชาชนต่อไป