โรคระบาด VS มหาลัยฯ จะติดอะไรก่อนกัน ? เทียบมาตรการรับมือสอบเข้ามหาลัยฯ ในวิกฤตโรคระบาด🦠💊

Highlight

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยเป็นก้าวสำคัญของชีวิตวัยรุ่น สำหรับการเข้าศึกษาต่อในวิชาที่ชอบและคณะที่ฝัน เด็กจำนวนมากทุ่มเทและพยายามอย่างหนัก เพื่อสอบแข่งขันเก็บคะแนนยื่นพิจารณาเข้าศึกษาต่อเพื่ออนาคตของตนเอง📚

ทว่า…วิกฤตโรคระบาดส่งผลกระทบไปถึงด้านการศึกษา เด็กไทยจำนวนไม่น้อยหลุดจากระบบ การเรียนออนไลน์ไม่ตอบโจทย์ รวมไปถึงการศึกษาต่ออุดมศึกษาก็มีปัญหา โดยเฉพาะ #Dek65 ที่กำลังเข้าสู่ช่วงสอบเก็บคะแนน เมื่อหนังสือก็ต้องอ่าน มหาวิทยาลัยก็อยากเข้า แต่โรคระบาดก็ยังน่าเป็นห่วง

บรรดานักเรียนจึงมีความคาดหวังอย่างสูงว่าผู้ที่มีหน้าที่รับผิดชอบโดยตรง จะมีมาตรการดูแลและหาทางออกอย่างไร ? ให้มั่นใจว่าโรคระบาดจะไม่สั่นคลอนอนาคตของเด็กไทยมากกว่านี้ 

กระทั่งเกิด #แบนทปอ ขึ้นบนโลกออนไลน์ เนื่องจากการตอบคำถามจากผู้ดูแลโซเชียลมีเดียของ ที่ประชุมอธิการบดีแห่งประเทศไทย (ทปอ.) เรื่องการควบคุมการแพร่ระบาดเชื้อไวรัสของผู้ที่จะเข้าสอบ เช่น หากผู้เข้าสอบติดเชื้อให้เลือกเข้าเรียนสาขาวิชาที่ไม่ต้องใช้คะแนนที่ขาดสอบ หรือเข้าสอบใหม่ในปีถัดไปแทน เป็นต้น 

สร้างความไม่พอใจและถูกวิจารณ์อย่างหนักว่า🔥 ทปอ. องค์กรของรัฐไม่เข้าใจสถานการณ์ของนักเรียนอย่างแท้จริง ไม่มีความจริงใจในการแก้ปัญหา ในด้านความพร้อมของผู้เข้าสอบ ความปลอดภัยและการควบคุมโรคในการจัดสอบ และข้อจำกัดของนักเรียนที่เกิดขึ้นในช่วงโรคระบาด

#Agenda เปรียบเทียบมาตรการรับมือสอบเข้ามหาลัยฯ ในวิกฤตโรคระบาด🦠 มาดูกันว่าแต่ละประเทศวางแนวทางและหาทางออกเรื่องการเรียนต่อของเยาวชนในชาติอย่างไรบ้าง ?

สหรัฐอเมริกา 🇺🇸

ใช้ระบบการสอบเข้าแบบรับตรง ผู้สมัครสอบจะต้องยื่นประวัติผลการเรียน และผลสอบของข้อสอบกลาง (Standardized Test) ซึ่งส่วนใหญ่แล้วจะเป็น SAT และ ACT ตามมหาวิทยาลัยกำหนด โดยข้อสอบ SAT เป็นการสอบวัดการอ่านการเขียน และความสามารถทางคณิตศาสตร์ ส่วนข้อสอบ ACT นั้น เป็นข้อสอบปรนัย ที่วัดทั้ง ภาษาอังกฤษ คณิตศาสตร์ วิทยาศาสตร์ และการเขียนเรียงความ 

การที่สหรัฐฯ มีระบบสอบเข้าแบบรับตรง เพียงแค่ยื่นคะแนนผลสอบ SAT หรือ ACT ทำให้ไม่ได้มีผลกระทบต่อนักเรียนมากนัก เพราะแต่ละปี การสอบ SAT มีการจัดสอบมากถึง 4-5 ครั้ง รวมถึงการสอบ ACT ด้วย 

เกาหลีใต้ 🇰🇷

ประเทศที่ขึ้นชื่อเรื่องการใส่ใจในการสอบเข้ามหาวิทยาลัยมากที่สุดประเทศหนึ่งของโลก มีการเลื่อนเที่ยวบินพร้อมกับปิดถนนเพื่อลดเสียงรบกวนในวันสอบ ได้มีระบบการรับเข้าศึกษาต่ออุดมศึกษาที่ชื่อว่า Suneung “ซูนึง” การสอบที่กำหนดชะตาชีวิตของเด็กนักเรียนเกาหลี เนื่องจากเป็นการสอบครั้งเดียว

เกาหลีจึงได้ออกมาตรการที่เอื้อต่อผู้สมัครสอบที่ติดเชื้อไวรัส โดยการให้ผู้เข้าสอบที่มีผลเป็นบวกหรือเป็นกลุ่มเสี่ยง สามารถจัดสอบในโรงพยาบาลได้ หรือแยกสนามสอบออกไป

ฟินแลนด์ 🇫🇮

หนึ่งในประเทศที่ได้รับการขนานนามว่ามีระบบการศึกษาที่ดีที่สุดในโลก ยึดหลักว่า “Child – Centered” หรือ ศูนย์กลางของการเรียนจะอยู่ที่เด็กเป็นหลัก ให้เด็ก ได้รู้สึกว่า “การเรียนคือการเล่น” มุ่งหวังให้นักเรียนได้เรียนรู้เข้าใจในเนื้อหาต่าง ๆ มากกว่าการเรียนเพื่อไปใช้สอบ

The Finnish Matriculation Examination เป็นระบบการเข้ามหาวิทยาลัยของฟินแลนด์ ที่จัดสอบเพียงแค่ 4 วิชา และที่น่าสนใจไปมากกว่านั้นคือ เกรดเฉลี่ยที่สะสมมาในช่วงมัธยมจะไม่ถูกนำมาใช้ในการคัดเลือกคนเข้ามหาวิทยาลัย 

ฟินแลนด์มีมาตรการรับมือกับการแพร่ระบาดในช่วงการสอบ โดยมีการจัดสถานที่สอบให้กับนักเรียนกลุ่มเสี่ยง และสามารถทำการทดสอบก่อนสอบได้

ไทย🇹🇭

ระบบการสอบคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยแซด ๆ ของเด็กไทย หรือที่เราเรียกกันว่า “TCAS” การคัดเลือกเข้ามหาวิทยาลัยที่มีอยู่ด้วยกันทั้งสิ้น 4 รอบ ได้แก่

  1. รอบ Portfolio
  2. รอบโควต้า
  3. รอบ Admission1 และ Admission2
  4. รอบรับตรงอิสระ

โดยแต่ละรอบนั้นก็มีเงื่อนไขที่แตกต่างกันออกไป ไม่ว่าจะเป็นคะแนนใช้ยื่นแต่ละสนามสอบที่มีทั้ง สนามสอบวิชา Gat/Pat สนามสอบวิชาสามัญ และสนามสอบวิชาความถนัดแพทย์ หรือวิธีการสมัครเข้าคัดเลือกอย่างรอบ Portfolio 

มาตรการการรับมือสอบเข้ามหาวิทยาลัยของไทย ท่ามกลางการแพร่ระบาดนั้นยังไม่มีมาตรการใด ๆ ออกมา นอกเหนือจากการสวมหน้ากากอนามัย รวมถึงเว้นระยะห่าง

หรือเข้าใจง่าย ๆ เลยก็คือ ทางทปอ. นั้นไม่มีมาตรการพิเศษใด ๆ ให้กับผู้สมัครสอบที่ติดเชื้อไวรัส🦠 ฉะนั้นแล้ว #Dek65 ต้องดูแลตัวเองให้ดี ห้ามป่วย ห้ามติด ห้ามตุย เพื่อที่จะได้ไม่เป็นผู้เสียสิทธิ์ในการสอบ และได้เรียนตามคณะที่หวังไว้✌🏻

การสอบเข้ามหาวิทยาลัยนั้นมีผลต่ออนาคตของเด็ก ๆ อย่างมาก ดังนั้น รัฐบาลหรือผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องต้องใส่ใจกับเรื่องนี้ให้มากขึ้นหรือไม่อย่างไร?

Popular Topics