จะดีกว่าไหม ? ถ้าต้นไม้ดักจับคาร์บอนได้แค่ปีละ 15 กิโลกรัม แต่เครื่องดักจับคาร์บอนทำได้ปีละเป็นพันตัน!
.
หากในปี 2027 อุณหภูมิโลกเฉลี่ยเพิ่มขึ้นไปอีกแค่ 1.5 องศาเซลเซียส อาจส่งผลให้แนวปะการังอาจตายลง แผ่นน้ำแข็งขั้วโลกละลาย ทำให้ระดับน้ำทะเลเพิ่มสูงขึ้น นำไปสู่สภาวะอากาศสุดขั้วต่าง ๆ ทั้งภัยแล้ง ไฟป่า น้ำท่วมรุนแรง และสารพัดภัยพิบัติธรรมชาติ รวมไปถึงการขาดแคลนอาหารด้วย
.
ดังนั้น จึงเกิดแนวทางในการลดคาร์บอนสู่ชั้นบรรยากาศสุดล้ำ อย่างเทคโนโลยีการดักจับ การใช้ประโยชน์ และการกักเก็บคาร์บอน (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) ที่เป็นเทคโนโลยีลดการปล่อยก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) โดยดักจับ และนำมากักเก็บภายใต้พื้นดินหรือใช้ประโยชน์ในด้านอื่น ๆ ที่ต้องใช้ต้นทุนสูงนับแสนล้านบาท
.
แนวคิดนี้เกิดขึ้นมาได้อย่างไร และได้ผลมากแค่ไหน #Agenda สรุปมาให้แล้ว
.
ดักคาร์บอนจากไหน?
จากภาคอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ เช่น การผลิตเชื้อเพลิง ปูนซีเมนต์ หรือเหล็กกล้า มีการปล่อยคาร์บอนออกมาในปริมาณมหาศาลจากกระบวนการเผาไหม้ในการผลิต จึงมีการติดตั้งเครื่องดักจับคาร์บอนไว้เพื่อแยกคาร์บอนออกมาโดยเฉพาะ และลดการสร้างมลพิษจากอุตสาหกรรม
.
รวมถึงการใช้เทคโนโลยี Direct Capture Air หรือการดักจับคาร์บอนผ่านอากาศโดยตรง ที่ใช้การดูดอากาศจากท่อขนาดใหญ่เข้าสู่กระบวนการแยกคาร์บอนไดออกไซด์ออกมา เช่น โรงงาน Mammoth ของบริษัท Climeworks ที่ติดตั้งท่อดูดอากาศขนาดยักษ์จำนวน 72 ท่อ เพื่อทำหน้าที่ดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ออกจากชั้นบรรยากาศได้มากถึงปีละ 36,000 ตัน
.
แล้วคาร์บอนไปอยู่ไหน?
ก๊าซที่ผ่านไปยังตัวดูดซับจนเกิดการอิ่มตัวจะทำให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์ที่มีความเข้มข้นสูง เรียกว่า Concentrated CO2 หลังจากนั้นจะถูกให้ความร้อนประมาณ 100 องศาเซลเซียสเพื่อแยกคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ออกมา
.
หลังจากนั้นจะถูกรวบรวมเพื่อนำไปผสมกับน้ำและสารผสมต่างๆ แล้วใช้แรงดันอัดเข้าไปเก็บไว้ในชั้นหินลึก 800 ถึง 2,000 เมตร ที่ใต้ดินหรือใต้ทะเล หรือช่องใต้ผิวโลกที่เป็นบ่อน้ำมันหรือก๊าซธรรมชาติที่ถูกขุดเจาะขึ้นมาใช้จนหมดแล้ว หรืออาจรวบรวมคาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์เพื่อนำไปใช้ประโยชน์ต่อไป
.
ทำรายได้จากไหน?
ข้อดีของการใช้เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน คือทำให้ได้คาร์บอนไดออกไซด์บริสุทธิ์ที่สามารถนำไปใช้ประโยชน์ต่อได้ ด้วยการใช้เพื่อเพิ่มปริมาณการผลิตน้ำมัน โดยฉีดกลับเข้าไปในบ่อน้ำมันที่ยังดำเนินการอยู่เพื่อให้สามารถผลิตน้ำมันได้มากยิ่งขึ้น
.
และนำคาร์บอนที่ดักจับเพื่อนำไปผสมกับวัสดุอื่น ๆ เช่น ซีเมนต์และคอนกรีต เชื้อเพลิง พลาสติก คาร์บอนไฟเบอร์และกราฟีน เพื่อเสริมให้วัสดุมีความแข็งแรงมากยิ่งขึ้น แต่ยังอยู่ในปริมาณจำกัด หรืออีกแนวทางคือนำไปแลกเปลี่ยนเพื่อขายคาร์บอนเครดิตให้กับอุตสาหกรรมหนักที่สร้างมลพิษและต้องการลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งมีมูลค่าทางเศรษฐกิจสูงนับแสนล้านบาทต่อปี
.
จะชนะโลกร้อน ต้องมีอีกกี่โรงงาน?
แม้จะมีเทคโนโลยีที่ช่วยดักจับและกักเก็บคาร์บอนไดออกไซด์ได้แล้ว แต่จำนวนเครื่องดักจับกลับไม่สอดคล้องและเพียงพอต่อปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ที่มนุษย์สร้างขึ้นในแต่ละปี ด้วยกำลังการดักจับคาร์บอนของเครื่องดักจับทั้งหมดทั่วโลกที่มีไม่กี่สิบเครื่อง สามารถทำได้ราวๆ 4 หมื่นตันต่อปีเท่านั้น
.
สวนทางกับปริมาณคาร์บอนไดออกไซด์ในชั้นบรรยากาศที่มากถึงปีละ 3.6 หมื่นล้านตัน หรือพูดง่ายๆ คือต้องเพิ่มเครื่องดักจับคาร์บอนให้ได้ถึง 9 แสนเครื่อง! เทียบเท่าการเอารถยนต์ออกจากถนน 7,800 คันต่อปี จึงจะเพียงพอต่อการดูดซับคาร์บอน ทำให้ต้นทุนการก่อสร้างและพัฒนาเทคโนโลยี CCSU ที่คาดการณ์ว่าทั่วโลกจะใช้เงินสูงถึง 3.6 ล้านล้านบาทภายในปี 2030 กลายเป็นโจทย์สำคัญที่นักธุรกิจต้องคิดหนักก่อนตัดสินใจลงทุนในวิธีนี้
.
ทำอย่างไร ให้จับได้เยอะขึ้น?
เทคโนโลยีดักจับและกักเก็บคาร์บอน เป็นเทคโนโลยีที่ใช้ต้นทุนในการผลิตสูง แต่ยังได้ผลตอบแทนในปริมาณที่จำกัด ผู้พัฒนาเครื่องดักจับคาร์บอนหลายบริษัทจึงตั้งเป้าว่าจะต้องพัฒนาประสิทธิภาพให้สามารถดักจับคาร์บอนให้ได้อย่างน้อยปีละ 70 ล้านตัน และต้องการลดต้นทุนให้เหลือ 1 หมื่นบาทต่อการลดคาร์บอน 1 ตัน จากเดิมที่ประมาณ 3 – 5 หมื่นบาทต่อการลดคาร์บอน 1 ตัน
.
และเพื่อให้สอดคล้องกับข้อตกลงปารีส (Paris Agreement) ที่นานาชาติได้ให้สัตยาบันไว้ในปี 2015 ว่าจะร่วมกันรักษาและดูแลไม่ให้โลกร้อนขึ้นเกิน 1.5 องศาเซลเซียส ภายในปี 2030 แต่ดูจะเป็นหนทางที่เกิดขึ้นได้ยาก หากโลกยังต้องพึ่งพาพลังงานฟอสซิลเป็นหลัก และยังไม่สามารถเปลี่ยนผ่านไปสู่พลังงานสะอาดได้แบบ 100% การลดคาร์บอนด้วยการดักจับและกักเก็บ จึงอาจเป็นแค่การแก้ปัญหาที่ปลายเหตุ และยังไม่ตอบโจทย์การลดผลกระทบที่เกิดกับโลกเราได้อย่างชัดเจน
.
Sources : Climeworks, CNN, CNBC, Global Witness, NSTDA