ตลาด EV ทั่วโลกกำลังขยายตัว 💹 พร้อมเติบโตในอีก 5 ปี ⚡
แล้วไทยอยู่ตรงไหน และมีโอกาสที่ EV จะเติบโตได้มากน้อยเพียงใด ❓
.
ปฏิเสธไม่ได้ว่าการเข้ามาของ EV เป็นการพลิกโฉมอุตสาหกรรมยานยนต์และพลังงานของโลก ซึ่งแต่เดิมรถเครื่องยนต์สันดาปภายในหรือ ICE เป็นอุตสาหกรรมที่มีการแข่งขันสูง แต่เมื่อเกิดวิกฤตพลังงาน บวกกับการสร้าง Carbon footprint จากอุตสาหกรรมรถยนต์ จึงมีการคิดค้นและพัฒนารถยนต์ไฟฟ้า (Electric Vehicle หรือ EV) มากขึ้น 🚙
.
โดยภาพรวมของตลาด EV ทั่วโลกในปีที่ผ่านมา ข้อมูลจาก Canalys วิเคราะห์ว่า ยอดขายรถยนต์ไฟฟ้า (EV) ทั่วโลกในปี 2021 มีจำนวนสูงถึง 6.8 ล้านคัน ซึ่งเพิ่มขึ้น 109% จากปี 2020 คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงถึง 15.6 ล้านล้านบาท โดยมีประเทศที่มีส่วนแบ่งตลาด EV ที่สำคัญ เช่น จีน สหรัฐ เยอรมนี ฝรั่งเศส เกาหลีใต้ ฯลฯ
.
ในขณะที่ไทยยังจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้ารถ EV จากต่างชาติ อีกทั้งต้องเจอกำแพงภาษีจากการนำเข้า EV แม้จะมีนโยบายภาครัฐที่ส่งเสริมการใช้ EV แต่ผู้บริโภคหลายคนก็อาจลังเลใจ หากต้องตัดสินใจระหว่างการใช้รถยนต์ ICE แบบเดิม หรือเปลี่ยนไปใช้ EV ที่อาจต้องรับภาระค่าใช้จ่ายมหาศาลตามมา 💸
.
#Agenda จะพาทุกคนไปสำรวจส่วนแบ่งตลาด EV ทั่วโลกในรอบปีที่ผ่านมา และสำรวจเป้าหมายของ EV แต่ละชาติ เมื่อเทียบกับประเทศไทย ว่าจะสามารถเติบโตไปสู่เป้าหมายที่ตั้งไว้ได้อย่างไร ❓
จีน 🇨🇳
ปัจจุบันจีนยังครองแชมป์ส่งออก EV อันดับ 1 ของโลก ด้วยยอดจำหน่ายสูงถึง 3.5 ล้านคัน ครองส่วนแบ่งตลาด EV ที่ 51.7% คิดเป็นมูลค่ากว่า 4.7 ล้านล้านบาท ซึ่งจีนมีบริษัทจดทะเบียนมากกว่า 450
แห่งที่เข้าแข่งขันในตลาด EV เนื่องจากจีนกำลังแก้ปัญหามลพิษจากการเป็นหนึ่งในประเทศที่ปล่อยคาร์บอนสูงที่สุดแห่งหนึ่งของโลก โดยมีเป้าหมายในการลดคาร์บอนภายใต้ความตกลงปารีสให้ได้ร้อยละ 20 ภายในปี 2035
.
ซึ่ง BYD ถือเป็นแบรนด์ EV ที่ใหญ่ที่สุดในจีน ด้วยมูลค่าบริษัท 5.7 ล้านล้านบาท รองลงมาคือ Wuling, Tesla, Ora และ Roewe ซึ่งจีนกำลังส่งเสริมอุตสาหกรรม EV ในประเทศอย่างต่อเนื่อง
โดย 5 จาก 10 อันดับของรถ EV ในจีนมาจาก BYD สะท้อนให้เห็นว่าจีนมุ่งมั่นและตั้งเป้าหมายไปสู่การเป็นผู้นำการผลิต EV เนื่องจากมีแร่โลหะที่ใช้ในการผลิตแบตเตอรี่ EV มากที่สุดแห่งหนึ่งของโลก
.
โดยภายในปี 2027 จีนตั้งเป้ายอดขายรถ EV ที่ 7.5 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงถึง 12 ล้านล้านบาท ทั้งนี้รัฐบาลกำลังสนับสนุนด้วยการอุดหนุนเงินมากกว่า 5.7 แสนล้านบาท มาตั้งแต่ปี 2009 เพื่อให้ผู้บริโภคสามารถเข้าถึงรถ EV ได้ และจัดหาเงินทุนเพื่อสร้างสถานีชาร์จ EV 120,000 แห่ง และลดค่าธรรมเนียมใบอนุญาตและเพิ่มจุดจอดรถพิเศษสําหรับ NEV
.
.
เยอรมนี 🇩🇪
หนึ่งในชาติสมาชิก EU ที่มีตลาด EV ใหญ่ที่สุดในยุโรป โดยมียอดจำหน่าย EV 6.9 แสนคัน ครองส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ 10.2% คิดเป็นมูลค่ากว่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยรัฐบาลกลางได้เพิ่มวงเงิน 1.1 แสนล้านบาท เพื่ออุดหนุนให้แก่ผู้บริโภคหันมาใช้รถ EV โดยผลที่เกิดขึ้นคือมีรถ EV วิ่งอยู่ในเยอรมนีมากกว่า 9 แสนคันในช่วง 10 ปีที่ผ่านมา
.
ซึ่งมีแบรนด์ที่ครองตลาด EV ในประเทศ คือ Volkswagen ที่มีส่วนแบ่งตลาด 20.3% ตามมาด้วยคู่แข่งอย่าง Mercedes-Benz, Renault, Tesla และ BMW โดยรัฐบาลกําลังผลักดันให้ขยายโครงการเงินอุดหนุน ผู้ซื้อรถ BEV จะยังคงได้รับเงินอุดหนุนสูงถึง 3 แสนบาท ในขณะเดียวกัน PHEV จะได้รับเงินอุดหนุนสูงสุด 2.5 แสนบาท
.
โดยเยอรมนีตั้งเป้ายอดขายรถ EV ในปี 2027 อยู่ที่ 1.6 ล้านคัน หรือคิดเป็นมูลค่า 3.7 ล้านล้านบาทและเตรียมปรับแผนการเปลี่ยนผ่านสู่สังคม EV ด้วยการเพิ่มสถานีชาร์จให้ครอบคลุมทั่วประเทศและให้ส่วนลดหรือยกเว้นค่าจอดรถสำหรับรถ EV มากขึ้น
.
.
สหรัฐอเมริกา 🇺🇸
ในปีที่ผ่านมา สหรัฐฯ มีส่วนแบ่งตลาด EV ของโลกอยู่ที่ 9.3% ซึ่งมียอดขายรถ EV 6.3 แสนคัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1.08 ล้านล้านบาท ซึ่งแม้จะออกตัวช้ากว่าจีนในเรื่องการแข่งขัน EV แต่สหรัฐก็พร้อมสนับสนุนการผลิต EV อย่างเต็มที่ โดยเตรียมออกกฎหมายลดเงินเฟ้อ ที่จะช่วยคืนเงินภาษีมูลค่าประมาณ 1.5 แสนบาทสำหรับการซื้อรถยนต์ไฟฟ้าที่ใช้แล้ว และ 2.8 แสนบาทสำหรับรถยนต์ใหม่บางประเภท
.
ทั้งนี้ยักษ์ใหญ่ด้าน EV อย่าง Tesla มีรถ EV ตัวท็อป ได้แก่ Model S, Model X, Model Y และ Model 3 และกำลังร่วมมือกับ Panasonic เพื่อเตรียมก่อสร้างโรงงานผลิตแบตเตอรี่ EV มูลค่า 4 พันล้านดอลลาร์ในรัฐโอคลาโฮมาและเนวาดา โดยมีคู่แข่งอย่าง Ford ที่ได้เพิ่มแผนการผลิตประจำปีเป็น 2 เท่า สำหรับ F-150 Lightning และ GM ที่เตรียมผลิต EV ขนาดเล็กที่ปล่อยมลพิษเป็นศูนย์ภายในปี 2035
.
โดยสหรัฐฯ วางแผนที่จะมียอดขายรถ EV ในอีก 5 ปีข้างหน้าอยู่ที่ 2.1 ล้านคัน คิดเป็นมูลค่าการส่งออกสูงถึง 5.3 ล้านล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ประกาศเป้าหมายในการสร้างสถานีชาร์จ EV 500,000 เครื่อง ตามทางหลวงและในชุมชนต่างๆ ภายในปี 2030 โดยใช้วงเงินสนับสนุนมากกว่า 5.7 หมื่นล้านบาท
.
.
ฝรั่งเศส 🇫🇷
ด้วยส่วนแบ่ง 4.7% ในตลาด EV ของโลก ยอดขายรถ 3.2 แสนคัน หรือคิดเป็นมูลค่าประมาณ 7.7 แสนล้านบาท รัฐบาลฝรั่งเศสให้การสนับสนุน EV ผ่านนโยบายที่ช่วยจูงใจผู้บริโภคอย่างจริงจัง เช่น การมอบเงินอุดหนุนเพื่อซื้อรถ EV สูงสุดถึง 7 แสนบาท และจะได้รับการยกเว้นหรือส่วนลดภาษีจดทะเบียนรถ EV
.
โดยผู้นำ EV ในฝรั่งเศสอย่าง Renault วางแผนที่จะสร้างเครือข่ายสถานีไฟฟ้าแบบชาร์จเร็วสำหรับรถ EV ตามทางหลวงพิเศษทั่วยุโรป และเพิ่มการให้บริการเลานจ์สำหรับพักผ่อน มุมสำหรับเด็ก และเครื่องดื่มให้บริการ นอกจากนี้ Renault กำลังเร่งเครื่องเดินหน้าด้วยแผนการแยกธุรกิจ EV และเครื่องยนต์สันดาปออกจากกัน เพื่อแข่งขันตลาดรถยนต์ EV กับคู่แข่งอื่น รวมไปถึงอยู่ระหว่างหารือเกี่ยวกับการเป็นพันธมิตรกับ Nissan ซึ่งกำลังพิจารณาลงทุนในหน่วยรถยนต์ไฟฟ้าของ Renault ในอนาคต
.
ทั้งนี้ ฝรั่งเศสคาดการณ์ยอดขายรถ EV ในปี 2027 อยู่ที่ 6.1 แสนคัน หรือคิดเป็นมูลค่า 1.5 ล้านล้านบาท โดยนอกจากสนับสนุนการซื้อ EV แล้ว ยังมีนโยบายช่วยเหลือผู้มีรายได้น้อยแต่ต้องการใช้รถ EV ผ่านโครงการเช่ารถ EV ในราคาเพียง 3,700 บาทต่อเดือน ซึ่งช่วยให้เกิดการใช้งานรถ EV ได้มากขึ้น
.
เกาหลีใต้ 🇰🇷
ถือเป็นประเทศผู้ส่งออกรถ EV เป็นอันดับต้นๆ ในเอเชียโดยเป็นรองเพียงแค่จีน ด้วยยอดจำหน่ายในปี 2021 ที่ 1.2 แสนคัน มีส่วนแบ่งในตลาดโลกที่ 1.8% คิดเป็นมูลค่าการส่งออก 2.6 แสนล้านบาท โดยรัฐบาลเกาหลีใต้เตรียมเพิ่มเงินอุดหนุนรถ EV ต่อเนื่องสูงถึง 1.5 แสนล้านบาทจนถึงปี 2025 และเตรียมลงทุนในการพัฒนาแบตเตอรี่ไฟฟ้าโดยใช้วงเงิน 800 ล้านบาทเพื่อพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานสำหรับทดสอบแบตเตอรี่ไฟฟ้าในอนาคต
.
โดยอุตสาหกรรมรถ EV ส่วนใหญ่ในเกาหลีใต้ ขับเคลื่อนโดย Hyundai ด้วยส่วนแบ่งในประเทศถึง 75%ซึ่งเดิม Hyundai ยังไม่มีการพัฒนารถ EV อย่างเต็มตัว แต่เพื่อต้องการเอาชนะคู่แข่งในตลาดรถ ICE อย่างญี่ปุ่นซึ่งมี Toyota เป็นผู้นำ จึงเริ่มพัฒนาและเปิดตัว IONIQ 5 ซึ่งเป็นรถ EV ที่ได้รับฉายาว่า ‘Tesla Killer’ จากการคว้ารางวัล Car of the Year 2022 จากสหราชอาณาจักร
.
ซึ่งเกาหลีใต้คาดการณ์ว่า จะมียอดขาย EV เพิ่มขึ้น 3.3 ล้านคันในอีก 5 ปีข้างหน้า หรือคิดเป็นมูลค่าการส่งออก 7.1 แสนล้านบาท โดยทั้งนี้ รัฐบาลเกาหลีใต้ตั้งเป้าที่จะเพิ่มจำนวนสถานีชาร์จจาก 12,000 เป็น 500,000 แห่ง ภายในปี 2025 พร้อมประกาศแผนการที่จะห้ามการจดทะเบียนรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน หรือ ICE ตั้งแต่ปี 2035 เป็นต้นไป
.
.
ไทย 🇹🇭
ในรอบปีที่ผ่านมา มีแบรนด์รถ EV จากหลากหลายสัญชาติ เช่น MG, BMW, Hyundai และอื่นๆ บุกเข้ามาในตลาดรถยนต์ของไทย โดยมีส่วนแบ่งอยู่ที่ 0.08% ของตลาดรถ EV ของโลก คิดเป็นมูลค่าการส่งออกประมาณ 6 พันล้านบาท ซึ่งในปี 2021 ที่ผ่านมามียอดขาย EV ในไทย 5,781 คัน
.
ข้อมูลจาก KKP Research มองว่าตลาด EV ในประเทศไทยจะเติบโตได้จาก 3 ปัจจัยสนับสนุน ได้แก่ 1) ตัวเลือก EV จากจีนที่เข้ามาตีตลาดไทยมากขึ้น 2) ราคาที่ทยอยปรับลดลงจากพัฒนาการทางเทคโนโลยี และ 3) คนต้องการเลือกการเดินทางที่ช่วยลดมลภาวะ
.
โดยคาดการณ์แนวโน้มของรถ EV ในไทย ว่าจะมียอดขาย 9 พันคันในปี 2027 คิดเป็นมูลค่าการส่งออก อยู่ที่ 1.6 หมื่นล้านบาท ซึ่งรัฐบาลได้ออกมาตรการด้านภาษีเพื่อช่วยให้ผู้บริโภคสามารถครอบครองรถ EV ได้มากขึ้น แต่ยังคงติดปัญหาในเรื่องค่าใช้จ่ายที่สูงเมื่อเทียบกับการใช้รถ ICE จึงยังเป็นอุปสรรคที่รัฐจะต้องเข้ามาช่วยเหลือและกำกับดูแลอย่างจริงจัง
.
เมื่อนำทั้ง 6 ประเทศมาเปรียบเทียบ พบว่า แม้โอกาสในการเติบโตของตลาด EV ในไทยจะมีอยู่สูง แต่ยังมีอุปสรรคต่างๆ เช่น ราคารถ EV ที่ยังสูงและไม่คุ้มค่า มาตรการสนับสนุนของภาครัฐที่ไม่ตรงจุด สถานีอัดประจุไฟฟ้าที่ยังไม่ครอบคลุม และแนวโน้มการใช้ชีวิตในเมืองที่พึ่งพารถยนต์ส่วนตัวน้อยลง ประเทศไทยจึงอาจจะต้องได้นับการสนับสนุนทั้งนโยบายจากภาครัฐ ความร่วมมือจากเอกชน และกำลังซื้อจากผู้บริโภค ร่วมกันขับเคลื่อนอุตสาหกรรม EV ของไทยให้เติบโตได้ในระยะยาวต่อไป
.
Sources : Statista, LH bank, evwind, Visual Capitalist, engadget, MacroPolo, INSIDER, Autovista24, germanyworks, The Guardian, euronews, thedriven, SEOULZ, KKP Research