หนี้สินครัวเรือน อีกคำหนึ่งที่อยู่คู่คนไทยมาช้านาน
และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นไปเรื่อย ๆ !
.
หนี้สินครัวเรือน ตามความหมายของธนาคารแห่งประเทศไทยคือ เงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินให้แก่บุคคลธรรมดาที่มีถิ่นที่อยู่ในประเทศ ซึ่งบุคคลธรรมดาอาจนำเงินที่กู้ยืมไปใช้เพื่อการจับจ่ายใช้สอยต่าง ๆ หรือเพื่อประกอบธุรกิจ โดยคลอบคลุมเฉพาะเงินให้กู้ยืมที่สถาบันการเงินเก็บข้อมูลได้เท่านั้น จึงไม่รวมถึงหนี้นอกระบบ
.
ตามข้อมูลสำนักงานสถิติแห่งชาติ ได้ทำการเก็บรวบรวม ‘หนี้ครัวเรือน’ แต่ละจังหวัด พร้อมแบ่งตามวัตถุประสงค์ของการกู้ยืม โดยแบ่งได้ 6 ประเภทดังนี้
.
1. เพื่อใช้จ่ายในครัวเรือน
2. เพื่อใช้ทำธุรกิจที่ไม่ใช่การเกษตร
3. เพื่อใช้ทำการเกษตร
4. เพื่อใช้ในการศึกษา
5. เพื่อใช้ซื้อ/เช่าซื้อบ้านและที่ดิน
6. อื่น ๆ
.
แล้วหนี้สินของประเทศไทยในแต่ละจังหวัดจะเป็นอย่างไร วันนี้ #Agenda พาทุกคนไปดูคำตอบเหล่านั้นกัน
.
จังหวัดที่มีหนี้สินครัวเรือนมากสุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) จังหวัดปทุมธานี มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 370,531 บาท
2) จังหวัดสุรินทร์ มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 347,321 บาท
3) จังหวัดมหาสารคาม มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 343,780 บาท
.
สำหรับจังหวัดที่มีหนี้สินครัวเรือนน้อยสุดได้แก่ จังหวัดขอนแก่น โดยมีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 47,602 บาท และในส่วนของกรุงเทพฯ นั้น มีหนี้สินเฉลี่ยต่อครัวเรือนอยู่ที่ 191,011 บาท นับเป็นลำดับที่ 45 จากทุกจังหวัดทั่วประเทศ
.
ในปัจจุบัน ระดับหนี้ครัวเรือนของไทยอยู่ในระดับที่น่ากังวล โดยข้อมูลจากไตรมาสที่ 3 ปี 2564 ชี้ว่าระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP ของไทยเพิ่มสูงขึ้นถึง 89.3% โดยเมื่อเปรียบเทียบกับต่างประเทศแล้ว ไทยมีระดับหนี้ครัวเรือนต่อ GDP สูงเป็นอันดับที่ 12 จาก 70 ประเทศทั่วโลก แถมยังสูงเป็นอันดับที่ 2 ในเอเชียรองจากประเทศเกาหลีใต้อีกด้วย โดยสาเหตุที่หนี้ครัวเรือนของไทยเพิ่มขึ้นนั้น เกิดจากหลากหลายปัยจัยด้วยกัน ดังนี้
.
– พฤติกรรมของครัวเรือน จากการศึกษาของธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พบว่าครัวเรือนไทยออมน้อย เป็นหนี้สูง และเป็นหนี้นาน เนื่องจากพฤติกรรมการใช้จ่ายเกินตัว ทำให้เงินออมน้อย รวมทั้งผู้กู้บางรายยังยืดระยะเวลาผ่อนชำระหนี้เพื่อลดยอดในการชำระหนี้ในแต่ละเดือนลง ทำให้มีระยะการเป็นหนี้ที่ยาวนานอีกด้วย
.
– แรงกระตุ้นจากทั้งภาครัฐและเอกชน มาตรการการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐมักมุ่งไปที่การกระตุ้นการใช้จ่ายของครัวเรือน ซึ่งบางมาตรการอาจทำให้ครัวเรือนเป็นหนี้ในขณะที่ยังไม่พร้อมได้ เช่นโครงการรถยนต์คันแรกในปี 2555 เป็นต้น อีกทั้งภาคเอกชนยังออกมาตรการส่งเสริมการขายในรูปแบบต่าง ๆ ที่ทำให้ครัวเรือนตัดสินใจซื้อสินค้าและบริการได้ง่ายขึ้น ส่งผลให้ครัวเรือนเป็นหนี้มากขึ้นตามไปด้วยเช่นกัน
.
– การส่งเสริมของสถาบันการเงิน ซึ่งมีส่วนในการยื่นข้อเสนอที่ดึงดูดให้ครัวเรือนเข้ามาติดกับดักภาระหนี้ เช่น โปรโมขั่นผ่อน 0% หรือการให้เงินคืนเมื่อจ่ายผ่านบัตรเครดิต แถมยังเจาะกลุ่มลูกค้าที่อายุน้อยเพิ่มขึ้นอีกด้วย
.
การก่อหนี้เปรียบเสมือนการนำเงินในอนาคตมาใช้ ซึ่งสามารถทำให้เกิดผลได้ทั้งในแง่ดีและแง่ร้าย
.
ในแง่ร้าย การก่อหนี้มากเกินไปจะส่งผลลบต่อเศรษฐกิจโดย
– การบริโภคของครัวเรือนในอนาคตจะลดลง เนื่องจาก คนส่วนใหญ่ต้องนำเงินที่ได้มาไปใช้หนี้ ไม่เหลือเงินให้มาจับจ่ายใช้สอยเพื่อขับเคลื่อนเศรษฐกิจ
– ความสามารถในการรองรับเหตุการณ์ที่ไม่คาดคิดน้อยลง เช่น กรณีถูกเลิกจ้าง หรือสถานการณ์การแพร่ระบาดของโรคโควิด-19 เป็นต้น
.
ซึ่งถ้าหากมีการผิดนัดชำระหนี้จำนวนมาก จะทำให้ระบบการเงินได้รับความเสียหายจนไม่สามารถดำเนินการได้ตามปกติและกระทบต่อเศรษฐกิจอย่างรุนแรงอีกด้วย
.
ในส่วนของแง่ดีนั้น การก่อหนี้อาจเป็นประโยชน์ต่อเศรษฐกิจได้เช่นกัน เพราะหากผู้คนเลือกที่จะเก็บออมเยอะและยาวนาน จนกว่าจะมีจำนวนเงินเพียงพอที่จะซื้อของที่ตนต้องการได้นั้น เงินออมในระบบเศรษฐกิจก็จะมีจำนวนมากจนเกินไป และเศรษฐกิจในภาพรวมก็จะขยายตัวต่ำกว่าที่ควรจะเป็นตามไปด้วย
.
ดังนั้นการมีหนี้สินจึงไม่ใช่เรื่องที่ผิดเสมอไป เพียงแต่เราต้องคำนึงถึงความสามารถในการชำระหนี้ของตนเองด้วย เพื่อให้หนี้ที่ก่อนั้นไม่มีจำนวนมากจนเกินไป จนไม่เหมาะสมและสอดคล้องกับขีดความสามารถของตนเองนั่นเอง
.
ที่มา: สำนักงานสถิติแห่งชาติ, ธนาคารแห่งประเทศไทย