ใครจะอยากเป็นครู ถ้ายังมีภาระเกินหน้าที่ แต่ค่าตอบแทนน้อย
ระบบการศึกษาไทยกำลังวนอยู่ในอ่าง เมื่อคุณภาพตกต่ำ แต่ยังแก้ไม่ตรงจุด
.
ปัญหาที่เกิดขึ้นในระบบการศึกษาคืออะไร?
ครูไทยเพียงพอมากแค่ไหนในแต่ละจังหวัด?
#Agenda รวมมาให้แล้ว
.
สัดส่วนที่เหมาะสมระหว่างจำนวนนักเรียนและครูนั้น ไม่มีสัดส่วนที่กำหนดเอาไว้อย่างตายตัว เพราะต้องพิจารณาถึงปัจจัยอื่น ๆ ประกอบกันด้วย เช่น หลักสูตร จำนวนห้องเรียน งบประมาณ ฯลฯ ดังนั้นสัดส่วนที่เหมาะสมจึงแตกต่างกันไปในแต่ละประเทศ
.
โดยเฉลี่ยของประเทศในกลุ่ม EU อยู่ที่ประมาณครู 1 คนต่อนักเรียน 14 คน และสัดส่วนของประเทศสหรัฐอเมริกาอยู่ที่ประมาณครู 1 คนต่อนักเรียน 15 คน
.
ส่วนประเทศไทย กฎหมายได้กำหนดสัดส่วนไว้ว่าสูงสุดไม่ควรเกินครู 1 คนต่อนักเรียน 25 คน ซึ่งเป็นสัดส่วนที่มีการวิเคราะห์กันว่าเป็นการเทียบจำนวนนักเรียนกับจำนวนนักเรียนครูเพียงอย่างเดียว ยังไม่ได้นำเอาปัจจัย เช่น จำนวนห้องเรียน จำนวนระดับชั้น เรื่องหลักสูตร เป็นต้น เข้าไปในการคำนวณ
.
โดยจังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนนักเรียนต่อครู 1 คนมากที่สุด 3 อันดับแรก ได้แก่
1) จังหวัดภูเก็ต ที่มีจำนวนนักเรียนมากถึง 34 คนต่อครู 1 คน
2) จังหวัดสมุทรสาคร มีจำนวนนักเรียน 33 คนต่อครู 1 คน
3) จังหวัดนนทบุรี มีจำนวนนักเรียน 32 คนต่อครู 1 คน
.
สำหรับจังหวัดที่มีสัดส่วนจำนวนนักเรียนต่อครู 1 คนน้อยที่สุดคือ จังหวัดน่าน ที่มีจำนวนนักเรียนเพียง 16 คนต่อครู 1 คนเท่านั้น
.
แม้ตัวเลขสัดส่วนในรายจังหวัดจะดูเหมาะสมและเกินจากมาตรฐานไปไม่มาก แต่เมื่อพิจารณาถึงรายละเอียดในแต่ละโรงเรียนแล้ว ไทยยังมีปัญหาเกี่ยวกันการจัดสรรครู จนเกิดผลกระทบถึงคุณภาพการสอนด้วย ซึ่งสามารถแบ่งแยกประเด็นปัญหาได้ดังนี้
.
– โรงเรียนเล็ก พื้นที่ห่างไกล ครูขาดแคลน
ข้อมูลจากกองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษาแสดงให้เห็นว่า โรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีจำนวนครูบรรจุเพียงแค่ 9,484 คนจากจำนวนครูทั้งหมดกว่า 340,435 คนทั่วประเทศ
.
ทำให้ครูในโรงเรียนเล็ก หรือโรงเรียนที่อยู่ในพื้นที่ห่างไกลมีภาระงานที่มากกว่าปกติ ต้องดูแลนักเรียนหลายห้อง หลายชั้นเรียน ไปพร้อม ๆ กัน และทำให้เกิดการวนสอนในหลายวิชาโดยครูเพียงแค่คนเดียว
.
แถมยังต้องคอยทำงานอื่น ๆ ภายในโรงเรียน เช่น งานทำความสะอาด ควบคู่ไปด้วย ทำให้คุณภาพหรือความเข้าใจในเนื้อหาการสอนของตัวเองลดน้อยลง
.
– ครูเหมือนจะพอ แต่ภาระที่ไม่ใช่งานสอนหนักกว่า
ใน 1 ปีการศึกษาครูไทยมีภาระที่ต้องรับผิดชอบเยอะมากทั้งหน้าที่หลักอย่างการเตรียมแผนการสอน การจัดการเรียนการสอน การเป็นครูประจำชั้น
.
และยังมีงานส่วนอื่นกลับเข้ามามีบทบาทมากกว่างานสอน และลดพลังกายพลังใจของครูอยู่เสมอ เช่น งานประเมิน งานเอกสารอื่นๆ ที่ไม่มีความจำเป็น การปฏิบัติงานเสริมต่าง ๆ ภายในโรงเรียน ซึ่งเป็นโครงสร้างที่กำหนดไว้และทำต่อกันมา
.
ทำให้ครูไม่สามารถจดจ่อเรื่องการสอนได้อย่างเต็มที่ คุณภาพของการสอนและการเอาในใส่นักเรียนจึงลดน้อยลงตามไปด้วย เมื่อภาระงานล้น ค่าตอบแทนน้อย จึงส่งผลกระทบให้ปัญหาครูขาดแคลนทับถมหนักขึ้นไปอีก
.
ปัญหาเรื่องครูของไทยจึงไม่ใช่การมีครูไม่เพียงพอต่อระบบ แต่เป็นเรื่องการกระจายจำนวนครูในแต่ละพื้นที่ และการวางโครงสร้างระบบที่ทำให้ครูไทยไม่สามารถจดจ่ออยู่การสอนของตัวเองได้อย่างเต็มที่ต่างหาก
.ที่มา : กองทุนเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, สถาบันวิจัยเพื่อความเสมอภาคทางการศึกษา, The 101 .World, Statista, Eurostat, Learner